“สภาทนายความ” ยื่นมือช่วย คดีน้องเต้ โดนเก๋งฝ่าไฟแดงชนดับ
“สภาทนายความ” ยื่นมือช่วยเรื่องคดี "เต้ ธนพล" บัณฑิตเกียรตินิยม โดนเก๋งฝ่าไฟแดงชนเสียชีวิต ระบุ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร พ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบ อาจติดคุก ถ้ามีส่วนสนับสนุนเด็ก
จากกรณีอุบัติเหตุเมื่อคืนวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.โพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งเกิดอุบัติเหตุบริเวณสี่แยกไฟแดงถนนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประตู 1 ก่อนถึงประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฯ โดยที่เกิดเหตุตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยที่เกิดเหตุพบรถยนต์เก๋ง บีเอ็มดับเบิลยู สีขาวสภาพด้านรถพังยับ ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร พบรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นฟีลาโน่สีแดง สภาพรถพังยับเยินเช่นเดียวกัน และพบร่างผู้เสียชีวิตเป็นชาย ทราบชื่อคือ นายธนพลแก้วมูล หรือเต้ อายุ 24 ปี ชาว อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ สภาพนอนจมกองเลือด กระดูกตามร่างกายหักหลายแห่ง โดยคนขับรถยนต์เก๋งเป็นเยาวชนชายวัยรุ่น อายุ 16 ปี ขับรถมากับเพื่อนวัยรุ่นด้วยกันรวม 3 คน โดยคนในรถยนต์เก๋งไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ซึ่งเยาวชนชายคนขับมีอาการตกใจ และยืนรอแสดงตัวกับตำรวจที่จุดเกิดเหตุ
ล่าสุดวันนี้ สภาทนายความ ภาค 3 เตรียมยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้านคดีความให้กับครอบครัวของนายธนพล แก้วมูล หรือน้องเต้ เหยื่อ BMW โดยนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 กล่าวว่า หลังจากได้ทราบข่าวจากทางสื่อมวลชนแล้วเห็นว่า ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนพื้นที่เกิดเหตุนั้นอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอาจจะได้รับความลำบากในการเดินทางไปมาเพื่อติดตามเรื่องคดีความ ทางสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา จึงได้มีการหารือเตรียมเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านคดีดีความ เพื่อดูแลเรื่องของสิทธิต่างๆ ของผู้ตายที่ควรได้รับ
ซึ่งถ้าหากทางครอบครัวผู้ตาย ยังไม่มีทนายความคอยดูแลเรื่องคดีสามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือสนับสนุนในการแต่งตั้งทนายความเพื่อดูแลคดีได้ที่สำนักงานสภาทนายความภาค 3 หรือสำนักงานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ได้เตรียมทนายอาสาเอาไว้แล้วหากครอบครัวผู้เสียหายต้องการ
ขณะที่ทางด้านนางบุญลือ แก้วมูล แม่ของน้องเต้ บัณฑิตเกียรตินิยม มทส.ที่ถูกหนุ่ม 16 ปี ซิ่งเก๋ง BMW ขยี้ขณะจอดติดไฟแดงทางเข้าประตู 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจนเสียชีวิต ได้กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนเองได้ไปรับศพน้องเต้ ลูกชายมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดดอนชา ต.ท่าตะโกอ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 1 ตุลาคม 2565 และมีกำหนดการฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ 8 ต.ค.นี้ ที่ไม่สามารถเอาศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านวังแลง หมู่ที่ 5 ต.ท่าตะโก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของน้องเต้ได้เพราะที่บ้านถูกน้ำท่วมสูง ไม่สามารถเข้าออกได้เลย การสัญจรไปมาก็ลำบาก
ส่วนทางคดีตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง อ.เมืองนครราชสีมา ท้องที่เกิดเหตุได้เรียกญาติของคู่กรณีมาเจรจาเพื่อให้ดูแลค่าจัดการศพก่อน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้เพราะตนเองก็เร่งนำศพน้องเต้มาบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เพราะน้องร่างกายแหลกเหลวมาก ส่วนญาติคู่กรณีก็อ้างว่าติดงานไม่ว่างจนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากทางญาติคนขับรถ BMW อีกเลย ก็คงต้องประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพตามมีตามเกิดไปก่อน ส่วนกรณีที่ทางสภาทนายความภาค 3 นครราชสีมา จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดีตนก็ยินดีและจะได้นัดหารือในแนวทางการสู้คดีกันอีกครั้ง นางบุญลือฯ กล่าว
วันเดียวกัน ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช (ทนายคดีประหารหมอวิสุทธิ์) รองโฆษกสภาทนายความ เผยถึงเหตุการณ์วัยรุ่นอายุ 16 ปี ขับรถเก๋งบีเอ็มชนรถจักรยานยนต์ชนบัณฑิตวิศวกรรม เกียรตินิยม ถึงแก่ความตาย ว่า คดีนี้เป็นคดีที่กระทบต่อสังคมเพราะผู้ตายเพิ่งสำเร็จการศึกษาและเรียนดีจนได้เกียรตินิยมเมื่อเขามีศักยภาพขนาดนี้เมื่อตายไป ใครจะไปอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา และจะมีช่องทางใดในการเยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัวผู้เสียหาย เรื่องนี้นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความทราบข่าว จึงรายงานให้ ดร.วิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความฯ ซึ่งดร.วิเชียร เอง เคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือคดีสองบัณฑิตปริญญาโท ที่ขับรถอยู่ดีๆ บนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าอยุธยา แล้วถูกรถซุปเปอร์คาร์ชนตายทั้งสองคนมาแล้ว ซึ่งท่านช่วยเหลือทางคดีในการเรียกค่าสินไหมทดแทนคดีนี้ก็คล้ายกัน นายกสภาทนายจึงสั่งการให้นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายแล้วในวันนี้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า คนก่อเหตุมีอายุ 16 ปี ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาตรา 27, 29 ดังนั้นจะไปเสนอชื่อจริงที่อยู่ของเขาไม่ได้ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามแล้วแต่บิดามารดาของเด็กผู้ก่อเหตุต้องร่วมรับผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร และใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มีบทลงโทษทางอาญาจำคุกบิดามารดาด้วย ถ้าฟังได้ว่ามีส่วนสนับสนุนเด็ก แม้ไม่ใช่โดยตรงก็ตาม ตามมาตรา 26 อนุสาม
ในส่วนฝ่ายผู้เสียหาย เห็นว่ากฎหมายแพ่งให้สิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ก่อเหตุละเมิดพร้อมดอกเบี้ย ตามความร้ายแรงของเหตุละเมิด โดยคำนวณจากฐานานุรูปของผู้ตาย ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยคำนวณ ว่า หากผู้ตายมีชีวิตอยู่บิดามารดาจะได้รับอุปการะเป็นเงินเดือนละเท่าใด ปัจจุบันคำนวณให้ถึง 90 ปี ซึ่งฝ่ายเด็กที่ขับรถบีเอ็มต้องจ่ายโดยเรียกร้องและกำหนดค่าสินไหมเป็นรายเดือนรายปีก็ได้
นอกจากนี้คดีนี้ หากอัยการยื่นฟ้องก็สามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 5 อนุสองประกอบมาตรา 30 และบิดามารดาจะใช้สิทธิ์เรียกค่าเสียหายตามมาตรา44/1 เข้าไปในคดีอาญา โดยไม่ต้องแยกไปฟ้องคดีแพ่งก็ได้ เช่นค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ ค่าขาดไร้อุปการะต่างๆ
ในส่วนเยาวชนผู้ก่อเหตุ แน่นอนเขาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชน มาตรา 4 การดำเนินคดีต้องคำนึงถึงสภาพกายสติสัมปชัญญะ การตัดสินใจของเยาวชนมาประกอบ โดยจะมีที่ปรึกษากฎหมาย ที่ต่างกับทนายความคอยช่วยเหลือ และในส่วนของศาลก็จะคำนึงหลักการให้เยาวชนกลับตัวมาเป็นคนดีแก่สังคม อีกด้วย
ปัจจุบันคนไทยมีวินัยในการขับขี่รถบนท้องถนนมากขึ้น แต่อุบัติร้ายแรง ก็เกิดเสมอ เช่นคดีหมอกระต่ายถูกตำรวจขี่รถจักรยานยนต์ชนในทางเท้า คดีสาววัยรุ่นชนรถตู้บนโทรลเวย์ทำให้อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ตายพร้อมคนอื่นรวม 9 ศพ สังคมจะต้องเข้าใจรับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าจะใช้ช่องทางใดที่สะดวกมีประสิทธิภาพ สภาทนายความในฐานะเป็นองค์กรกฎหมาย มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน นอกจากให้ความรู้แล้ว ก็ให้ความช่วยเหลือจัดทนายความให้ โดยคดีนี้จะนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารในสัปดาห์หน้า