“นฤมล” ยก7ข้อชี้ภาษีขายหุ้นรัฐได้ไม่คุ้มเสีย กระทบธุรกิจ-จ้างงาน
“นฤมล”ยก7เหตุผลเก็บ "ภาษีขายหุ้น" เหตุรัฐบาลได้ไม่คุ้มเสีย กระทบแหล่งระดมทุนธุรกิจ-สภาพคล่อง-การจ้างงาน
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook ส่วนตัวระบุถึงขณะที่ภาวะตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศยังตกลงต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก การเก็บภาษีหุ้นจึงไม่เหมาะสมและได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงหนักจากเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจ
2. ภาษีขายหุ้นจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง โดยกระทบนักลงทุนทุกประเภท รวมทั้งรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่านกองทุนรวม และนักลงทุนต่างประเทศ
3. สภาพคล่องที่ลดลงจะส่งผลต่อผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรม และส่งผลต่อเม็ดเงินที่บริษัทใน Real Sector (กลุ่มอุตสาหกรรม) จะสามารถระดมทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพื่อนำไปใช้ในการขยายกิจการ
4. Market Maker หรือ ผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อนวัตกรรมของตลาดทุนไทย ทำให้เราแข่งขันกับตลาดทุนอื่นได้ยากขึ้น
5. อัตรา 0.1% สูงพอๆกับที่ทั้งอุตสาหกรรม (โบรก ตลท.และ ก.ล.ต.) จัดเก็บอยู่แล้วในรูปของค่าธรรมเนียมต่างๆ
6.มีการเก็บภาษีอื่นจากการขายหุ้นอยู่แล้ว ทุกการซื้อขายหุ้น มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) และภาษีรายได้จากเงินปันผล ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการซื้อขายหุ้น
7.ที่ผ่านมา ตลาดทุนได้ทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน การส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือSME เข้ามาระดมทุน การจ้างงาน การเสียภาษีของอุตสาหกรรม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเป็นแหล่งระดมเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลนำส่งรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของบริษัทเอกชนที่เสียภาษีในประเทศไทย และยังทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย มาเป็นเวลากว่า 48 ปี
รายได้ภาษีขายหุ้นที่รัฐคาดว่าจะได้รับประมาณ 1.6-2 หมื่นล้าน จะไม่คุ้มค่ากับผลลบที่จะเกิดกับตลาดทุน แหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเติบโตเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของประเทศ