สมาคมฟุตบอลฯ ลงโทษ ผู้ฝึกสอน-จนท.-นักเตะ ใช้ความรุนแรงชิงทองซีเกมส์
ล่าสุด สมาคมฟุตบอลฯ สั่งลงโทษ ผู้ฝึกสอน-จนท.-นักเตะ ใช้ความรุนแรงกับอินโดนีเซีย ชิงเหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยืนยันบทลงโทษ เจ้าหน้าที่ทีมของทีมชาติไทย และนักกีฬา ตามที่ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนจรรยา กรณีปัญหาในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชาย ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023 นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมชาติไทย กับ ทีมชาติอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
เหตุการณ์ดังกล่าวสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้นำเสนอข่าวเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของวงการกีฬาฟุตบอลไทย และประเทศไทย
คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน เป็นประธาน ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน สืบสวนสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 และเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566
โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ต้องกันว่า แม้ว่า นายประสบโชค โชคเหมาะ ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู, นายมายีด หมัดอะด้ำ เจ้าหน้าที่ทีม, นายภัทราวุธ วงษ์ศรีเผือก เจ้าหน้าที่ทีม ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบนอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตบอล หรือ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามความรับผิดชอบในทีมฟุตบอลแล้ว
ด้วยความรู้ ประสบการณ์ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และวุฒิภาวะ จะต้องมีหน้าที่ ควบคุมกำกับดูแล พฤติกรรมความประพฤติของนักกีฬาฟุตบอลด้วย โดยเฉพาะทีมชาติชุดนี้ เป็นชุดรุ่นอายุไม่เกิน 22 ปี ซึ่งถือว่ายังเยาว์วัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี คอยตักเตือนสั่งสอนอบรมนักกีฬาที่ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือมีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจะประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง หาใช่เป็นผู้นำในการกระทำผิด หรือ เข้าร่วมในการกระทำผิดเสียเองเช่นกรณีนี้ จึงไม่มีเหตุอันควรปรานี
อาศัยอำนาจตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยจรรยา สำหรับนักกีฬาอาชีพ และบุคลากรกีฬาอาชีพ ในความดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2565 หมวด 1 จรรยาของนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ ข้อ 3 (4) และ (11) หมวด 2 กลไกและระบบการบังคับใช้จรรยา ข้อ 7 ประกอบกับ หมวด 3 บทกำหนดโทษ ข้อ 10.9 เห็นควรลงโทษ “พักการปฏิบัติหน้าที่ในนามทีมชาติไทยทุกชุด เป็นเวลา 1 ปี”
ส่วน นายโสภณวิชญ์ รักญาติ นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ในตำแหน่งผู้รักษาประตู และ นายธีรภักดิ์ เปรื่องนา ผู้เล่นสำรองทีมชาติไทยหมายเลข 18 ที่ร่วมกระทำผิดด้วยนั้น นอกจากจะตกอยู่ในสภาวะกดดันด้านจิตใจ ด้วยเหตุมุ่งไปที่ผลการแข่งขัน และมีเหตุการณ์ยั่วยุกันไปมาจนทำให้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ภายหลังเกิดเหตุรู้สำนึกในการกระทำผิดและออกมาขอโทษต่อสาธารณะ ประกอบกับทั้งสองคนยังอยู่ในช่วงเยาว์วัย โดยนายโสภณวิชญ์ฯ อายุ 22 ปี และนายธีรภักดิ์ฯ อายุ 21 ปี จึงมีเหตุอันควรปรานี อาศัยอำนาจตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยจรรยา สำหรับนักกีฬาอาชีพ และบุคลากรกีฬาอาชีพ ในความดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2565 หมวด 1 จรรยาของนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ ข้อ 3 (4) และ (11) หมวด 2 กลไกและระบบการบังคับใช้จรรยา ข้อ 7 ประกอบกับ หมวด 3 บทกำหนดโทษ ข้อ 10.8 เห็นควรลงโทษ “พักการปฏิบัติหน้าที่ (เข้าร่วมแข่งขัน) ในนามทีมชาติไทยทุกชุด เป็นเวลา 6 เดือน”