‘แผ่นดินไหว’ เมียนมา สะเทือนกรุงเทพฯ จับตากว่าหมื่นตึกเก่า ทำไมเสี่ยงถล่ม!

‘แผ่นดินไหว’ เมียนมา สะเทือนกรุงเทพฯ จับตากว่าหมื่นตึกเก่า ทำไมเสี่ยงถล่ม!

เหตุ “แผ่นดินไหว” ใน “เมียนมา” วันนี้ สะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตึกสูงที่ต้องอพยพให้วุ่น แต่ที่ต้องห่วงยิ่งกว่า คือ “ตึกเก่า” นับหมื่นตึก ที่เสี่ยงถล่มได้ เหตุผลเพราะอะไร และมีแนวทางป้องกันหรือไม่

จากเหตุแผ่นดินไหว” ที่เมียนมา มีความรุนแรงระดับ 6.0 แม็กนิจูด จนสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่บนอาคารสูง จนทำให้หลายพื้นที่ต้องอพยพพนักงานและผู้อยู่อาศัยออกมาภายนอกอาคารเป็นการด่วน 

นอกจากนี้ #แผ่นดินไหว ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยตลอดวัน โดยชาวทวิตได้ทวีตวิดีโอและรายงานความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวอีกด้วย 

กรุงเทพฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มสำรวจตรวจสอบอาคารที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว พบว่าไม่มีอาคารใดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น จึงสรุปได้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวันนี้อยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจนและทำให้เกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคารแต่ยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้

แม้เป็นโชคดีที่ผลกระทบไม่สร้างความเสียหายทั้งในเมียนมาและกรุงเทพฯ รวมถึงโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวที่กระทบถึงไทยยังมีไม่มาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราวางใจได้ เนื่องจากในพื้นทีที่กรุงเทพมหานครมี “ตึกเก่า” ที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ซึ่งไม่ได้ออกแบบการป้องกันแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯที่มีจำนวนมาก กว่าหนึ่งหมื่นอาคาร!

  • สาเหตุของแผ่นดินไหว และ โอกาสสะเทือนถึงกรุงเทพฯ 

แผ่นดินไหว” เกิดจากการเคลื่อนที่ของ “รอยเลื่อน” เพื่อปลดปล่อยพลังงาน ระบายความร้อนที่สะสมอยู่ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลัน ปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีกลุ่มรอยเลื่อน 16 รอยเลื่อนที่มีพลัง สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด อยู่ที่บริเวณกาญจนบุรี ระยะห่างประมาณ 200-250 กิโลเมตร ซึ่งมีโอกาสสร้างความรุนแรงให้กับกรุงเทพฯ ได้ 

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ วิศวกรอาชีพ นักธรณีวิทยาอาชีพ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กรุงเทพฯมีสภาพพื้นดินอ่อน ทำให้สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ แม้จะอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหวก็ตาม ซึ่งทำให้อาคารสูงตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากกว่าปรกติ

ตามคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของอาคาร (Characterize Response of The Structure) และคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของชั้นดิน (Site Effects) ระบุว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวยังส่งผลต่อการโยกตัวของอาคารอีกด้วย แม้ว่าไทยจะยังไม่เคยเจอกับเหตุเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรง จนสร้างความเสียหายมาก แต่ไทยได้เรียนรู้เรื่องผลกระทบของแผ่นดินไหวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะพยากรณ์การเกิดเหตุแผ่นดินไหว และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงเมื่อใด

‘แผ่นดินไหว’ เมียนมา สะเทือนกรุงเทพฯ จับตากว่าหมื่นตึกเก่า ทำไมเสี่ยงถล่ม!

ดังนั้นประเทศไทยจึงปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวให้มีความทันสมัยมากที่สุดไม่ว่าจะเป็น 

  • การปรับปรุงระดับความเสี่ยงภัยของแผ่นดินไหวในกรุงเทพและทั่วประเทศ
  • การศึกษาเรื่องผลกระทบของการขยายคลื่นในพื้นดินอ่อน
  • การออกแบบอาคารสูงที่เกิดขึ้นมากในกรุงเทพฯ ภายในระยะ 10 - 20 ปี ข้างหน้า
  • ปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้ชัดเจนและปฏิบัติถูกต้อง

ในปี 2540 กฎกระทรวงฉบับที่ 49 ระบุให้อาคารสูงเกินกว่า 15 เมตร ใน 10 จังหวัด กลุ่มจังหวัดที่มีหรืออยู่ใกล้กับกลุ่มรอยเลื่อน มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ ต้องออกแบบโครงสร้างให้สามารถต้านแผ่นดินไหว ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน และกาญจนบุรี 

ต่อมาในปี 2550 ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 129 เพิ่มการบังคับใช้กับอาคารสูงเกินกว่า 15 เมตร ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้

 

  • อาคารเก่าต้องต้านแผ่นดินไหวได้

อย่างไรก็ตาม ในกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้กำหนดโครงสร้างอาคารให้ต้านแผ่นดินไหวได้สูงสุดกี่ริกเตอร์ แต่ใช้การอ้างอิงการรับแรงสั่นสะเทือนจากโอกาสที่คาดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวสูงสุดในประเทศไทยที่ระดับ 7-7.5 ริกเตอร์ ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย เกิดขึ้นที่จังหวัดน่านในปี 2478 ด้วยความรุนแรงระดับ 6.5 ริกเตอร์

ดังนั้นจึงกำหนดให้ อาคารในกรุงเทพฯ ต้องรับแรงสั่นสะเทือนที่มากระแทกอาคารได้ คิดเป็นสัดส่วน 4-12% ของน้ำหนักอาคาร ส่วนอาคารในจังหวัดกาญจนบุรีและภาคเหนือต้องรับแรงสั่นสะเทือนคิดเป็นสัดส่วน 4-15% ของน้ำหนักอาคาร เพราะอยู่ใกล้ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 

ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Structural Mechanics and Structural Dynamics กล่าวว่า “อาคารเก่าซึ่งถูกสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 ถูกออกแบบให้ต้านทานแรงลม ซึ่งเป็นแรงทางด้านข้างเช่นเดียวกับแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่สามารถต้านแผ่นดินไว้ได้ 100% เพราะเงื่อนไขของการออกแบบต้านทานแผ่นดินไหวนั้นมีมากกว่า เช่น ต้องทำให้โครงสร้างยืดหยุ่น สามารถโยกตัวได้มากขึ้นเพื่อรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้

ปัจจุบัน กรุงเทพฯมีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวงพ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564  ทั้งด้านการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว ขณะที่มีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง

 

  • ปัญหาต่าง ๆ ฉุดไม่ให้ปรับปรุงอาคาร

เพื่อแก้ปัญหาอาคารเก่าได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว กทม. จึงอนุญาตให้ต่อเติมเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้ ซึ่งในปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลายวิธี เช่น การพอกขยายหน้าตัดให้ใหญ่ขึ้น (Jacketing) การใช้แผ่นเหล็กหุ้ม (Steel plate Jacketing) หรือการใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) หรือการติดตั้งค้ำยัน ซึ่งเป็นวิธีที่มีงานวิจัยรองรับ แต่ยังคงติดปัญหาหลายด้าน 

ดร.ธนิต ใจสอาด วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร (ศ.วอ.) สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า “กทม.เปิดโอกาสส่วนอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 สามารถดัดแปลงต่อเติมเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้ โดยสร้างแรงจูงใจในการปรับปรุงอาคารแก่เจ้าของด้วยการให้สิทธิทางภาษี แต่ปัญหาคือ ต้องใช้การวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าอาคารใดมีความเสี่ยงอันตรายจริง แถมเจ้าของอาคารมักจะไม่ให้ความยินยอม เพราะการปรับปรุงอาคารนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง และยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในการปรับปรุงอาคารรองรับแผ่นดินไหวโดยตรง”

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ เริ่มติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนของอาคารสูง ซึ่งจะทำให้ทราบพฤติกรรมตึกมากขึ้น พร้อมกำหนดให้อาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ประมาณ 10,000 อาคาร ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแผ่นดินไหวและรับตรวจสอบเบื้องต้น โดยจะเริ่มจากสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพฯ ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างในการปรับปรุงการรองรับแผ่นดินไหว จากนั้นจึงขยายในวงกว้างมากขึ้นตามข้อมูลที่มี  

“กทม. ไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ กำลังรวบรวมข้อมูลจากฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อเสนอต่อเจ้าของอาคารต่อไป โดยไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย ทั้งนี้ การปรับปรุงต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปด้วย จึงต้องจัดหมวดหมู่ความสำคัญของอาคาร ก่อนดำเนินการให้รอบคอบ”

หลายคนอาจจะมองว่าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ความจริงแล้วประเทศไทยมีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว จนอาจจะทำให้อาคารเก่าในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ก็สามารถป้องกันความเสียหายได้ด้วยการทำอาคารเก่าให้แข็งแรง สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรุงเทพฯ ต้องทำความเข้าใจและร่วมหารือกับเจ้าของตึก เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้