คนไทย 13 ล้าน ถูกขึ้นบัญชีอาชญากร "บิ๊กโจ๊ก" ผุดเว็บไซต์เช็คประวัติ ก.ค.นี้
“อ.ปริญญา”ชี้คนไทยมีประวัติอาชญากรถึง 13 ล้านคน ด้าน “บิ๊กโจ๊ก” ลั่นหลังมีประกาศ ระเบียบตร.ใหม่เดือนเดียว ลบชื่อไปได้กว่า 10 ล้านคน เตรียมส่งใบแจ้งลบทะเบียนประวัติอาชญากรถึงบ้าน พร้อมผุดเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติได้เองในเดือน ก.ค.นี้
27 มิ.ย. 66 "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ 2566
นายปริญญา กล่าวว่า สืบเนื่องจากประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีการแก้ไขลบรายชื่อประชาชน ในทะเบียนประวัติอาชญากรได้จำนวนมาก จากอดีตที่ไม่เคยแก้ไข จนทำให้ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถสมัครงานได้
เนื่องจากระเบียบเดิมกำหนดให้ผู้กระทำผิด หรือผู้ต้องหา ต้องถูกนำชื่อไปบันทึกในทะเบียนประวัติอาชญากรทันที โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ แม้ว่าสุดท้ายแล้วอัยการจะสั่งไม่ฟ้องศาล ยกฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่ได้ลบรายชื่อออก
อีกทั้งการพิจารณานำรายชื่อผู้กระทำผิดออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้เสียหายต้องแจ้ง และพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่จับกุมผิดตัว หรือผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
โดยจากการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ศาล อัยการ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในแต่ละปี พบว่า มีคดีอาญากว่า 800,000 คดี รวมผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 13 ล้านคน จากประชากรไทย ทั้งหมด 66 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า ในคนไทย 6 คน จะมีผู้ที่มีรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร 1 คน
ภายหลังจากการประกาศบังคับใช้ ระเบียบฉบับดังกล่าวแล้ว ได้มีการแก้ไขปรับปรุง การจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา คือข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ห้ามเปิดเผย เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานสำนักพระราชวัง งานสมัครเข้ารับราชการ
2. ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือรอการลงโทษ หรือมีเพียงโทษปรับ หรือกักขัง รวมถึงกระทำผิดโดยประมาท ห้ามเปิดเผยทั่วไป เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด
3.ทะเบียนประวัติอาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาล มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นการกระทำผิดโดยประมาท
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า หลังจากระเบียบนี้มีผลบังคับใช้แล้ว 1 เดือน ตำรวจสามารถลบรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากรได้แล้วกว่า 10 ล้านคน เหลือประมาณ 3.7 ล้านคน ที่คดียังไม่สิ้นสุด ถือเป็นการคืนสิทธิให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยประชาชนสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรของตัวเองได้ที่โรงพักทั่วประเทศ
หลังจากนี้ หากศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว ทางกองทะเบียนประวัติอาชญากร จะส่งเอกสารไปยังโรงพักทั่วประเทศ เพื่อให้สายตรวจนำเอกสารไปแจ้งให้ประชาชนถึงบ้าน ปัจจุบันได้แจ้งไปแล้วประมาณ 600,000 ราย
นอกจากนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างการจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อประวัติอาชญากรของตัวเองได้เอง คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนกรณีผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรฯ โดยมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือศาลพิจารณาใช้ดุลยพินิจให้รอลงอาญา หากมีการชดใช้เยียวยาเป็นที่พอใจแล้ว ก็จะถูกลบประวัติอาชญากร ส่วนจะมีการแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมหรือไม่ จะมีการพิจารณาในอนาคต
แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังจะต้องเก็บข้อมูลบางส่วน ของกลุ่มที่มีการกระทำความผิดซ้ำ เป็นคดีที่เกี่ยวกับเพศ อาชญากรต่อเนื่อง หรือเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ยืนยันว่าไม่เป็นการกระทบสิทธิของประชาชนอย่างแน่นอน
ด้านประชาชนที่ได้รับการลบประวัติอาชญากรตามระเบียบใหม่ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถสมัครงานได้ตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือเดินทางไปต่างประเทศ จึงถือว่าเป็นโครงการที่ดี และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรมซ้ำซ้อนได้แน่นอน