เหตุเกิดที่ ‘พารากอน’ SMS ฉุกเฉินจะต้องมี
เหตุ "กราดยิง" ที่เกิดขึ้นที่ "สยามพารากอน" ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าไทยควรมี "ระบบการแจ้งเตือนภัย" (Emergency Alert System หรือ EAS) ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ Cell Broadcast แบบเจาะจงรายบุคคล ให้ข้อมูลที่ทันเวลา เพื่อลดผลกระทบ ความสูญเสีย ต่อประชาชน และต้องทันเวลา
5 ข้อหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นเยาวชนวัย 14 ปี ทั้งฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าตามกฎหมายหากเป็นเด็กหรือเยาวชน ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเสนอข่าวสารอาจขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทว่า “สรวิศ ลิมปรังษี” โฆษกศาลยุติธรรม ให้มุมมองในส่วนของพ่อแม่ว่าอาจจะต้องรับผิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นจะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกระทำผิดด้วย
เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 นับจากเหตุกราดยิงที่ นครราชสีมา และศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อหาอาวุธปืนทำได้ไม่ยาก มีข้อมูลขององค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา (เอสเอเอส) ระบุว่า ในระดับสากล ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 50 ในแง่ของการครอบครองปืนของพลเรือนต่อหัวมีสัดส่วนปืน 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คนและสถาบันเพื่อการวัดและประเมินสุขภาพหรือไอเอชเอ็มอี มหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานผลวิจัยเรื่องภาระโรคของโลกเมื่อปี 2562 ว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน โดยเป็นรองจากฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน คงต้องถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงพ.ร.บ.อาวุธปืน 2490 และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญเด็กอายุ 14 มีอาวุธปืนครอบครองแถมมีทักษะการใช้อาวุธได้เป็นอย่างดี และยังสามารถพกพาเข้าไปในห้างสรรพสินค้านำไปก่อเหตุได้ แสดงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยอาจจะไม่รัดกุมพอ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะมีแรงจูงใจจากอะไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก ควรจะมีระบบแจ้งเตือนภัย (Emergency Alert System หรือ EAS) ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ Cell Broadcast แบบเจาะจงรายบุคคล ให้ข้อมูลที่ทันเวลา เพื่อลดผลกระทบ ความสูญเสีย ต่อประชาชน และที่สำคัญต้องทำให้ทันเวลา
สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้เด็กอยู่ห่างไกลจากความรุนแรง ซึ่งเป็นหน้าที่ทั้งของสถานศึกษา พ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ต้องหล่อหลอมตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งวิธีที่ช่วยกล่อมเกลาเด็กที่ดีที่สุด ก็คือการมีต้นแบบที่ดีจากครอบครัว พ่อแม่ ที่ใกล้ชิดเด็ก มีความผูกพันจะทำให้เด็กซึมซับสิ่งดีๆที่พ่อแม่ปฏิบัติได้ รวมทั้งการให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อน กลุ่มเพื่อนบ้าน หรือสังคมที่มีความอ่อนโยนและใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสมและมีวิธีดูแลสุขภาพจิตใจในทางที่ไม่ได้สร้างปัญหาให้ตนเองและคนอื่น หากว่ามีประเด็นปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ หรือความเจ็บป่วยทางจิตใจใดๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ใกล้ชิดและถูกวิธี
อย่างไรก็ตามแม้เด็กจะกระทำความผิดอาญา ทว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก 2546 มาตรา 27 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ผู้ใดที่ฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การดำเนินการต่างๆ จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการความเชื่อมั่น การท่องเที่ยวของประเทศซึ่งเป็นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตด้วย