มูลนิธิเอเชีย เปิดตัวเว็บไซต์ Thailand Leadership หวังขจัดหลุมดำการศึกษา

มูลนิธิเอเชีย เปิดตัวเว็บไซต์ Thailand Leadership หวังขจัดหลุมดำการศึกษา

มูลนิธิเอเชีย พร้อมด้วย ศธ.-กทม. ร่วม เปิดตัวเว็บไซต์ Thailand Leadership หวังเป็นช่องทางพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน-ขจัดหลุมดำการศึกษา

มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเครือข่าย  ร่วมจัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ Thailand Leadership เพื่อเป็นช่องทางการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ประกอบด้วยข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ

ทั้งนี้ในงานดังกล่าว นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ฐานะนักวิชาการและผู้ร่วมจัดทำเว็บไซต์ กล่าวตอนหนึ่งในช่วงเสวนา เรื่อง แชร์กลยุทธ์ จุดไอเดียผู้บริหาร ตอนหนึ่งว่า กล่องดำของการศึกษาไทย คือ การขาดการกระจายอำนาจและความบิดเบี้ยวของระบบการสอบคัดเลือก ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่เคยเตรียมผู้นำทางวิชาการ แต่คัดเลือกเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการสอบคัดเลือกตามระเบียบราชการ หรือการสอบในเชิงวิชาการ ซึ่งไม่ใช่วิชาการที่เป็นการทดสอบวัดสมรรถนะการบริหาร ในฐานะผู้นำวิชาการ จึงส่งผลให้ได้ผู้บริหารการศึกษาที่เน้นทำข้อสอบเชิงวิชาการบริหารทั่วๆ ไป ไม่ได้เน้นประสบการณ์ด้านการบริหารงานวิชาการ ถือเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาที่บิดเบี้ยว

มูลนิธิเอเชีย เปิดตัวเว็บไซต์ Thailand Leadership หวังขจัดหลุมดำการศึกษา

"ความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ครูที่มีคุณวุฒิ วิทยฐานะระดับชำนาญการทุกระดับมีสิทธิ์สอบ บางท่านสอบผ่านเป็นผู้บริหารโรงเรียน ทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านงานหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือหัวหน้ากลุ่มวิชา บางคนไม่เคยเป็นรองผอ. แต่ไปสอบผอ. ซ้ำร้ายกว่านั้นเคยเป็นครูโรงเรียนมัธยมมาตลอด แล้วไปสอบเป็น ผอ.โรงเรียนประถม แล้วคิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสย้ายกลับไปเป็น ผอ.โรงเรียนมัธยม เพราะฉะนั้นอย่าหวังกับผู้นำทางวิชาการ ที่ไม่ได้ถูกสร้าง หรือถูกเตรียมให้เป็น”นายเอกชัย กล่าว

 

นายเอกชัย กล่าวต่อว่าในอนาคตจึงเห็นว่าควรต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสอบเป็นผู้บริหารสถานศึกษา เช่น เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้  ที่ผ่านมาเคยเสนอแนวคิดกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสอบตำแหน่งผู้อำนวยการได้ จะต้องอยู่ในตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่แนวคิดไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติเนื่องจากเหตุผลที่ไม่ทราบได้  

นายเอกชัย กล่าวถึงปัญหาที่ถือเป็นกล่องดำทางการศึกษาของไทยอีกประการ คือขาดการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปที่โรงเรียน ส่งผลให้ผู้บริหารไม่กล้าแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวมองว่าการเติบโต และความก้าวหน้าในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ควรขึ้นอยู่กับจำนวนของนักเรียน หรือขนาดของสถานศึกษา แต่ควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียนเป็นหลัก  โดยบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตควรจะต้องมี 4 คุณสมบัติที่เป็นลักษณะสำคัญ คือ เป็นนักออกแบบ, ให้โอกาสการมีส่วนร่วม, สนับสนุนครู และประเมินผลการทำงาน 

 

สำหรับเว็บไซต์ Thailand Leadership จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเหล่าพันธมิตร  ภายในเว็บไซต์จะประกอบด้วย 3 เมนูหลักคือ 1.ลงมือปฎิบัติ, 2.พัฒนาวิชาการ และ 3.สร้างสรรค์งานวิจัย โดยผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.