สถาปนิก'67 ผสานพลังสถาปนิก-สร้างสรรค์งานสถาปัตย์ ดันเป็นเวทีระดับโลก
เจาะลึกไอเดีย-แนวคิดจัดงานสถาปนิก'67 ในธีม “Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์” ผสานพลังสถาปนิก-สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม หวังยกระดับเป็นเวทีโชว์ของระดับโลก
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกาศความพร้อมเตรียมจัดงาน สถาปนิก’67 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. - 5 พ.ค. 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
สำหรับ ไอเดีย การจัดงาน “สถาปนิก’67” ที่จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 36 น.ส.กุลธิดา ทรงกิตติภักดี ประธานจัดงานสถาปนิก’67 เปิดเผยถึงไอเดียการจัดงานที่ใช้ชื่อว่า Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ว่า งานสถาปนิก’67 ในปีนี้ เป็นการนำเสนอถึงอัตลักษณ์ของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ เน้นย้ำถึงความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่สัมผัสได้โดยผู้คนจากทั่วโลก และยังมีนิทรรศการจากต่างประเทศมาร่วมจัดด้วยกันถึง 22 ชาติ เช่น สถาปนิกไทยจะได้เห็นว่าที่บังคลาเทศสถาปัตยกรรมเขาเป็นยังไง ที่ภูฏานมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยังไง และจะเป็นการเปิดโลกให้กับคนทั่วไปได้เห็นด้วยเช่นกัน
น.ส.กุลธิดา กล่าวด้วยว่าการจัดงานครั้งนี้ ได้ต่อยอดความร่วมมือจาก 5 องค์กรวิชาชีพสถาปนิก ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก ดังนั้นการจัดงานปีนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงทำให้งานสถาปนิกครบสมบูรณ์แบบ
“เชื่อว่ามางานนี้เหมือนเป็นการเปิดโลก แล้วจะเปิดมุมมองทุกท่าน เพราะไม่เป็นแค่การมาดูการแสดงผลงานสถาปัตยกรรมในไทยอย่างเดียวเท่านั้น ปีนี้เราต้องการความเป็นโกลบอลในระดับต่างประเทศมากขึ้น คือเหมือนได้มาเที่ยว ถึง 20 ประเทศ ในกลุ่มประเทศสมาชิกของสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย (Arcasia) หรือก็คือมางานนี้จะสามารถรับรู้ข้อมูลสถาปัตยกรรมแต่ละพื้นที่ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็จัดว่าเป็นไฮไลต์สำคัญที่จะทำให้ประชาชนผู้มางานได้เห็นภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ” น.ส.กุลธิดา กล่าว
ทางด้าน นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 เปิดเผยว่า งานสถาปัตยกรรมมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยในงานมีความหลากหลายที่จะพูดถึงเรื่องคุณค่า งานอนุรักษ์ ที่สัมผัส ได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์ทุกคน รวมถึงเด็ก เพราะในงานมีเวิร์กช็อปสำหรับเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ปีนี้ก็จะมีการเชิญคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่สำคัญปูชนียบุคคล กลุ่มคนที่มีความสำคัญเป็นอาจารย์ของอาจารย์ มาให้ความรู้กับสถาปนิกรุ่นหลังด้วย มาพูดคุยแนะรุ่นน้อง
“ไม่ว่าคุณอยู่ในเลเวลไหน อายุเท่าไหร่ มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมแค่ไหน คุณสามารถเข้ามาสัมผัส และก็ได้ความรู้กลับไปแน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดของเราก็คือว่า ผมเชื่อว่าเด็กและผู้ใหญ่เป็นสองรุ่นที่จริงๆ แล้ว หลักๆ อยู่ในอุตสาหกรรมของสถาปัตยกรรม เขาเป็นคนทดลองแบบบ้าน พ่อแม่ก็จะออกแบบบ้านเพื่อลูก เพื่อผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งสังคมที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้น ฉะนั้นการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเมือง การตกแต่ง รวมถึงทางภูมิสถาปัตยกรรม แล้วก็มาจนถึงงานสถาปัตยกรรม เป็นการนำเสนอแบบเปิดครอบคลุมกับทุกชีวิต ทุกช่วงวัย ในทุกเวลา” นายชุตยาเวศ กล่าว
สำหรับความคาดหวังต่อการจัดงานครั้งนี้ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 ทั้ง 2 คน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะเปิดตัวสถาปนิกไทย โชว์ความเป็นไทย และเป็นเวทีระดับโลกเทียบเท่ากับงานดีไซน์ต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักและโชว์ผลงานในระดับโลกได้.