'กรมทะเล' เผยผลชันสูตร 'พะยูน' เกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง

'กรมทะเล' เผยผลชันสูตร 'พะยูน' เกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง

กรมทะเล เผยผลชันสูตรพะยูนเกยตื้นตาย ที่ เกาะลิบง จังหวัดตรัง เตรียมส่งทีมนักวิจัยศึกษาหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล ลงพื้นที่อีกครั้ง

วันที่ 8 มีนาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เผยถึงสาเหตุพบพะยูนเกยตื้นตาย  ช่วงเช้าที่ เกาะลิบง จังหวัดตรัง โดยเจ้าหน้าที่ ศวอล. กรม ทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เข้าตรวจสอบและขนย้ายซากเพื่อมาชันสูตรยังศูนย์วิจัยฯ

 

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นซากพะยูน เพศผู้ โตเต็มวัย ความยาวของลำตัววัดแนบได้ 265 เซนติเมตร คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม

  • สภาพซากสด มีลักษณะภายนอกพบแผลหลุมลึกมีความยาว 7.5 x 4 เซนติเมตร
  • บริเวณข้างลำตัวด้านบนครีบข้างซ้าย เมื่อเปิดผ่าชันสูตรดูอวัยวะภายใน พบมีก้อนลิ่มเลือดสีขาวอยู่ในหัวใจห้องบนขวาซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตและมีเลือดคลั่งในหัวใจ
  • บริเวณส่วนของทางเดินหายใจ พบฟองอากาศภายในหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด คาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำ บริเวณม้ามพบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อมๆ
  • พบปื้นเลือดออกและเลือดคลั่งที่เนื้อเยื่อไต ส่วนของทางเดินอาหาร พบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อยและพยาธิตัวกลมจำนวนมาก
  • ในส่วนของบริเวณลำไส้ พบก้อนเนื้อขนาด 2 x 1 เซนติเมตร และก้อนหนองขนาด 1 x 1 เซนติเมตร พร้อมทั้งพยาธิใบไม้เล็กน้อย
  • ในตับอ่อนพบลักษณะบวมน้ำและมีเลือดคลั่ง
  • และพบเศษเชือกไนล่อนในกระเพาะอาหาร แต่ไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต

 

สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบความผิดปกติหลายระบบ และป่วยเรื้อรังเป็นระยะเวลานานร่วมกับภาวะอ่อนแอจากวัยแก่ จึงทำให้สัตว์เสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

 

\'กรมทะเล\' เผยผลชันสูตร \'พะยูน\' เกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง

 

ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวเสริมว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้สั่งการให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตของหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ ร่วมมือทีมนักวิจัย ด้านสมุทรศาสตร์ระดับประเทศหลายท่าน เร่งลงพื้นศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

 

ซึ่งเบื้องต้นพบแนวโน้มสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลแห้งลงต่ำกว่าปกติ เป็นผลให้หญ้าทะเลต้องตากแห้งเป็นพื้นที่กว้างและนานกว่าปกติ หญ้าทะเลจึงเกิดความอ่อนแอซึ่งทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยอื่น ได้แก่

  • การทับถมของตะกอนจากการขุดลอกปากแม่น้ำ
  • โรคระบาดในหญ้าทะเล
  • การถูกกินโดยสัตว์น้ำ
  • หรือประเด็นเรื่องสารพิษ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไป

 

หญ้าทะเลหายไป 50%

ปัจจุบันพบว่าหญ้าทะเลบางพื้นที่ เช่น เกาะลิบงมีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอบตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด

 

อีกทั้ง การกำหนดแนวทางการฟื้นฟูจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ

 

อนึ่ง หญ้าทะเลมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราสามารถช่วยกระบวนการฟื้นตัวได้ โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม 

 

\'กรมทะเล\' เผยผลชันสูตร \'พะยูน\' เกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ กรม ทช. จะลงพื้นที่ติดตาม และสำรวจพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลจังหวัดตรัง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคม 2567 เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมและสัณฐานพื้นทะเลจุดบริเวณอาศัยของแหล่งหญ้าทะเล เพื่อหาสาเหตุ ของการเสื่อมโทรมที่แท้จริงเพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุดและยั่งยืน

 

สุดท้ายนี้ รัฐมนตรี ทส. ได้ฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเลได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก อันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาขยะทะเล รวมถึงการปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยใช้เทคโนโลยีจากการวิจัยในอนาคต เพื่อเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเลให้กลับมามีพื้นที่สีเขียว ให้กับพะยูนและสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ได้มีแหล่งอาหารและที่มีอยู่อาศัยสืบไป

 

\'กรมทะเล\' เผยผลชันสูตร \'พะยูน\' เกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง