พอช.จับมือหน่วยงานรัฐ-เครือข่ายยกเสาเอก บ้านมั่นคงชุมชนริมราง จ.ตรัง
รองผู้ว่าฯ ตรัง ดีเดย์ยกเสาเอกโครงการบ้านมั่นคงชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา 72 หลังคาเรือน ด้านผู้ช่วย ผอ.พอช. ชี้เป้าบ้านมั่นคงชุมชนริมราง ชุมชนต้องได้สัญญาเช่าจาก ร.ฟ.ท.ทั่วประเทศ 300 ชุมชน พร้อมเอ็มโอยู 10 หน่วยงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน
หลังจากรัฐบาลมีนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,718.94 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดหาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมรางรองรับประชาชนที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวการก่อสร้างรถไฟทั่วประเทศรวม 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือนนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 ที่ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา เทศบาลตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เดินทางมาเป็นประธานในพิธียกเสาเอก โดยมีผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธียกเสาเอกโครงการบ้านมั่นคงชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา กว่า 400 คน
นายวิชาญ กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าหากทุกคนมีความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย ก็จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และจะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ในมีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ต้องขอขอบคุณทาง พอช.ที่มีโครงการสร้างบ้านมั่นคงให้กับพี่น้องที่อาจจะมีรายได้น้อย เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดตรังพร้อมที่จะร่วมมือ
"ผมว่าสิ่งสำคัญ คือความร่วมมือกันในชุมชน ร่วมกันออมทรัพย์ ซึ่งการออมจะทำให้ชุมชนมีทุนในอนาคตมีที่อยู่ระยะยาวมั่นคง มีอาชีพ มีหน้าที่การงานมั่นคงขึ้นได้ สุดท้ายก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ในระยะยาว” นายวิชาญ กล่าว
ด้าน นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธียกเสาเอกของชุมชนในวันนี้ พอช.ทำโครงการบ้านมั่นคงมากว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองลาดพร้าว ชุมชนริมคลองเปรมประชากร หรือแม้กะทั่งบ้านมั่นคงเมือง และชนบท และโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้ในมีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ก็ถือเป็นอีกโครงการที่สำคัญ ที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน อยากเห็นชุมชนมีความมั่นคงในการอยู่อาศัย มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการและสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากชุมชนจะมีที่ดิน ที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในทุกมิติ ถือว่ามีความสำคัญมาก ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก
“ในฐานะที่ พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง พอช.ก็ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนงานอย่างบูรณาการร่วมกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น พมจ.ตรัง หรือ เจ้าของที่ดินโดยเฉพาะการรถไฟฯ
พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง พี่น้องเครือข่ายสลัม 4 ภาค และพี่น้องเครือข่ายทั่วประเทศ จังหวัดตรังถือเป็นพื้นที่นำร่องใน 9 จังหวัดของภาคใต้ที่ได้รับผล
กระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่งพื้นที่จังหวัดตรังมีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง รวม 4 อำเภอ 13 ตำบล 26 ชุมชน 1,882 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอห้วยยอด 12 ชุมชน 731 ครัวเรือน อำเภอกันตัง 8 ชุมชน 440 ครัวเรือน อำเภอเมืองตรัง 4 ชุมชน 331 ครัวเรือน และอำเภอรัษฎา 2 ชุมชน 380 ครัวเรือน"
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จังหวัดตรังได้รับอนุมัติโครงการแล้วรวม 4 โครงการ งบประมาณที่อนุมัติ 166 ครัวเรือน รวมเป็นเงิน 22,582,965 บาท ได้แก่ ชุมชนหนองยวน 2 จำนวน 29 ครัวเรือน ชุมชนทางล้อจำนวน 17 ครัวเรือน ชุมชนคลองมวน จำนวน 48 ครัวเรือน และชุมชนที่ยกเสาเอกในวันนี้คือชุมชนชายเขาใหม่พัฒนาจำนวน 72 ครัวเรือน (โดยรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านสหกรณ์บ้านมั่นคงพร้อมใจสัมพันธ์ตรัง จำกัด) ชุมชนได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินจาก ร.ฟ.ท. เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 โดยราคาค่าเช่าที่ดิน อยู่ที่ 23 - 25 บาทต่อ
ตารางเมตรต่อปี
พอช.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมรางไปสู่เป้าหมายให้คลอบคลุมพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัดในภาคใต้ และทั่วประเทศรวม 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน เพื่อให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วทุกครัวเรือน วันนี้ต้องขอขอบคุณทาง
ผู้แทนหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจโครงการบ้านมั่นคงริมรางร่วมกันตลอดมา และมีพื้นที่รูปธรรมความสำเร็จในวันนี้
สำหรับภายในงานยังได้มีการมอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศจำนวน 4 ชุมชน และมอบงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาทีีอยู่อาศัยจำนวน 4 โครงการ 166 ครัวเรือน กว่า 22 ล้านบาทด้วย
นายสยาม กล่าวว่า นอกจากงานยกเสาเอกแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรม คือ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต ของจังหวัดตรัง โดยมีหน่วยงานกว่า 10 หน่วยงานร่วมลงนามในครั้งนี้
ซึ่งถือว่าการบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมการพัฒนาด้านคุณถาพชีวิตในทุกด้านให้กับชุมชน อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานภาคีเครือข่าย การพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดตรัง ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาลไปสู้เป้าหมายร่วมกัน