‘ดีอี’ ระดม 400 หน่วยงานรุกปราบข่าวปลอม ตัดวงจรโจรออนไลน์

‘ดีอี’ ระดม 400 หน่วยงานรุกปราบข่าวปลอม ตัดวงจรโจรออนไลน์

‘ดีอี’ ระดม 400 หน่วยงานรุกปราบข่าวปลอม ตัดวงจรโจรออนไลน์ ลดผลกระทบ สร้างความตระหนกรู้ สร้างความสุขให้กับประชาชน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การใช้งานระบบสำหรับประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมฯ’ ภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของข่าวปลอม โดยมอบหมายให้กระทรวง ดีอี เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการต่อสู้กับข่าวปลอม 

โดยได้พัฒนาเครือข่าย fact checking ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐและเอกชน กว่า 400 หน่วยงาน ร่วมเป็นเครือข่าย นับว่าเป็นเครือข่าย fact checking ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ร่วมมือกัน ในแก้ปัญหาข่าวปลอม และช่วยยืนยัน ข้อเท็จจริง สำหรับประชาชน
 

สำหรับการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ใช้เครื่องมือ social listening tool คัดกรองข้อมูลที่เปิดเผยบนพื้นที่สาธารณะ ทั้งจากโซเชียลมีเดียและข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตที่เปิดเผย จำนวน 95 ล้านข้อความต่อเดือน (หรือเฉลี่ยวันละ 3.1 ล้านข้อความ) ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 2.9 หมื่นข้อความ 

ข้อความเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 791 เรื่อง ซึ่งจะส่งเข้าสู่ระบบ fact checking โดยได้รับผลการตรวจสอบแล้ว 444 เรื่อง และได้ทำการเผยแพร่เรียบร้อยแล้ว 215 เรื่องต่อเดือน (ข่าวปลอม 152 เรื่อง ข่าวจริง 50 เรื่อง ข่าวบิดเบือน 13 เรื่อง) 
 

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้มีนโยบายสำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 3 เรื่องโดย 1. ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ พัฒนาเทคนิควิธีการและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบัน ศูนย์ฯ ได้นำเอาระบบ AI มาใช้ในการสืบค้น รวบรวม วิเคราะห์ ข้อมูล ข่าวสาร ข้อความ ที่มีการกล่าวถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตบนสื่อสังคมออนไลน์ในทุกช่องทางที่เป็นที่นิยมใช้งานกัน อาทิ Facebook, X (Twitter), Instagram, TikTok และระบบสามารถหาข้อมูลจากข้อความ (text) รวมทั้ง ภาพ วีดีโอ กราฟฟิก ตลอดจน ค้าหาต้นโพส และเฝ้าระวังได้อัตโนมัติ เป็นต้น

2. เร่งแก้ปัญหาข่าวปลอมในหมวดอาชญากรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอมการหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ หรือการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ข่าวปลอมรับสมัครงาน การสร้างอาชีพ หารายได้เสริม โดยอ้างความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำการเผยแพร่ต่อๆกัน จนกระทั่งสูญเสียทรัพย์สินส่วนบุคคล และสร้างความเดือดร้อนอย่างเป็นวงกว้างในสังคม โดยเผยแพร่ข่าวเตือนภัย 155 ข่าวต่อเดือน เข้าถึง ประชาชน (reach) 18.6 ล้านครั้งต่อเดือน

3. ขยายเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งเครือข่าย fact checking และเครือข่ายให้ความรู้และแจ้งเตือนข่าวปลอม อาทิ ความร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดช่องทางการให้ความรู้และแจ้งเตือนภัยจากข่าวปลอมหรือภัยออนไลน์สำคัญ ผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยมีสถิติการแจ้งเตือน การเข้าถึงของประชาชน (reach) มากกว่า 22 ล้านครั้งต่อเดือน 

 “ดีอี ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้าง ความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล เป็นเกราะป้องกันตัวให้กับประชาชน สร้างความสุขที่อย่างยั่งยืนให้กับสังคม ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว