ทร.อัญเชิญเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลงน้ำ เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ทร.อัญเชิญเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลงน้ำ เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ทร.อัญเชิญเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลงน้ำ เพื่อเตรียมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 5 ก.ค. 67 ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการอัญเชิญเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ลงน้ำ เรือพระราชพิธี ในการจัดเตรียมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

โดยเมื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ถูกอัญเชิญลงจากคาน นายเรือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ พร้อมกำลังพลประจำเรือ ได้ประกอบพิธีจุดธูปเทียนไหว้แม่ย่านางเรือ และถวายบังคมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นจึงเคลื่อนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จากคลองบางกอกน้อย ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งหน้าสู่อู่ทหารเรือธนบุรี ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ในเส้นทางสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา (สถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม) โรงพยาบาลศิริราช ท่ามหาราช ท่าช้าง วัดระฆังโฆษิตาราม  ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงเข้าจอดยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี

ทร.อัญเชิญเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลงน้ำ เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ทั้งนี้ การอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งจำนวน 4 ลำคือ 1.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 2.เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 

3.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และ 4.เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์  โดยจะอัญเชิญลงน้ำและเข้าจอด ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ระหว่างวันที่  4 - 7 ก.ค. 67 วันละ 1 ลำ ตามลำดับ

สำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จะมีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567ซึ่งกองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการเตรียมการ ทั้งการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย การซ่อมบำรุงเรือ การจัดเตรียมบทเห่เรือ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติสูงสุด

ทร.อัญเชิญเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลงน้ำ เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

สำหรับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 กองทัพเรือ และกรมศิลปากร สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539   

โดยได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัซกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือพายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศ ขณะนั้น)เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 4 เคยเป็นเรือพระที่นั่ง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 โขนเรือจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือ จักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาคหรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับใส่ปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบังลังก์กัญญา และมีแท่นประทับสำเรือ ภายนอกท้องเรือภายในแดง ตัวเรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.60 เมตร ลึก 1.10 เมตร ใช้กำลังพลรวม 71 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย

ทร.อัญเชิญเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลงน้ำ เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค