3องค์กรด้านอาหาร เผยผลส่งออกอาหารไทย ครึ่งปีแรก โต 9% ลุ้นขยายตัวต่อเนื่อง
ส.อ.ท. - สภาหอการค้าไทย-สถาบันอาหาร เผยการส่งออกอาหารไทยครึ่งปีแรก 67 โต 9.9% ลุ้นสิ้นปี 67 ฝ่าปัจจัยเสี่ยงสู่เป้า 1.65 ล้านล้านบาท
3องค์กรด้านอาหาร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมแถลงถึงสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบันและแนวโน้ม
โดย นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงว่า จากการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 แตะระดับ 852,423 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.9%
“แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.8% ขณะที่ภาพรวมในปี 2567 คาดว่าการส่งออกของอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น8.8% เทียบจากปี 2566 ที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท" นางศุภวรรณ กล่าว
นางศุภวรรณสำหรับกลุ่มสินค้าที่ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นและส่งผลบวกต่อภาพรวมส่งออกอาหาร ได้แก่ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูน่ากระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรสรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ขณะที่ตลาดส่งออกอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง อาทิ แอฟริกา โอเชียเนีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดส่งออกไปยังประเทศอินเดียมีอัตราลดลง ที่ 18.1% และจีน หดตัด 5 %
ทางด้าน นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส.อ.ท. กล่าวเพิ่มเติมว่าด้านการส่งออก ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน และการเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศจีนที่รุกหนักมากทั้งธุรกิจร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ที่เชื่อมโยงไปสู่สินค้าเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ตลาดอาหารในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งมิติของตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยที่มีมากถึง 65 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี จึงเป็นที่หมายปองของหลายๆ ประเทศ
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ฐานะประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและติดตามใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างรุนแรง จากมาตรการลดดอกเบี้ยในหลายประเทศ เบื้องต้นผู้ประกอบการต้องประกันความเสี่ยงค่าเงิน ส่วนในภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทยต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และแก้ไขสถานการณ์ให้ทันเหตุการณ์ไม่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนไม่สามารถแข่งขันได้.