'นักวิชาการสถาปัตย์ มธ.' ปลื้ม 'พม.' นำ 'บ้านแสนดี' ต่อยอดให้ผู้สูงวัย-พิการ

'นักวิชาการสถาปัตย์ มธ.' ปลื้ม 'พม.' นำ 'บ้านแสนดี' ต่อยอดให้ผู้สูงวัย-พิการ

"อ.ชุมเขต" ปลื้ม "พม" นำนวัตกรรมบ้านแสนดี เพื่อผู้สูงวัย-คนพิการ ต่อยอดนโยบาย4หมื่นบาทซ่อมบ้านให้พอ เชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการออกแบบบ้านแสนดี ซึ่งบ้านสำเร็จรูปในโครงการนวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคมสูงวัย เพื่อผู้สูงอายุ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ว่า แนวคิดดังกล่าวมาจากการคำนึงถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นฐานของผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่จำเป็นต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม ความสำเร็จในงานออกแบบได้มาจากการศึกษาค้นคว้า ตามแนวคิดอารยสถาปัตย์ หรือ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล จนในที่สุดตกตะกอน และก่อตัวเป็นแบบบ้านสำเร็จรูป ที่สอดคล้องกับพฤติกรรม และเงื่อนไขการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และผู้พิการ

รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวต่อว่าสำหรับจุดเด่นของงานออกแบบคือสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ในราคาไม่แพง โดยขนาด S มีพื้นที่  3 x 6 เมตร ราคา 1.2 แสนบาท ขนาด M  มีพื้นที่ 6 x 6 เมตร ราคา 1.7 แสนบาท และขนาด L มีพื้นที่ 9 x 6 เมตร ราคา 2.3 แสนบาท และสามารถนำไปต่อขยายกับโครงสร้างบ้านเดิมได้ โดยจะเป็นรูปแบบบ้านน็อคดาวน์ ที่สามารถสร้างเสร็จภายในวันเดียวและหากผู้อยู่อาศัยไม่มีโฉนดที่ดิน และเสียชีวิต สามารถส่งต่อบ้านให้ผู้ที่มีความจำเป็นได้

\'นักวิชาการสถาปัตย์ มธ.\' ปลื้ม \'พม.\' นำ \'บ้านแสนดี\' ต่อยอดให้ผู้สูงวัย-พิการ

รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวทิ้งท้ายด้วยยว่า แบบบ้านแสนดีสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับโครงสร้างอื่นๆ ที่ช่างชุมชนสามารถทำได้ เพราะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ของนวัตกรรมให้กับช่างชุมชนด้วยแล้ว ล่าสุดกรมกิจการผู้สูงอายุ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำบ้านแสนดีไปขับเคลื่อนนโยบาย 4 หมื่นบาทซ่อมบ้านให้พอ  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนด้วย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้เปราะบางให้ดียิ่งขึ้น.