ชู ‘ตะโหมด’ ชุมชนต้นแบบอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า บูรณาการผ่านเครือข่ายสภาลานวัด
ชูตะโหมดชุมชนต้นแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมบูรณาการทำงานภายใต้ ”สภาลานวัดตะโหมด” มุ่งเน้นอนุรักษ์ใน 3 ด้าน ดิน น้ำและป่า โดยคนในชุมชนเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนผ่านผู้นำทางศาสนาและชุมชน พร้อมต่อยอดในเด็กและเยาวชน สู่ความยั่งยืนในอนาคต
พระครูประยุตธรรมธัช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดตะโหมด และเจ้าคณะตำบลตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 ประจำปี 2566 เปิดเผยถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนตะโหมด ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 500 ปี ตามหลักฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารที่พบในสระน้ำวัดเหนือ ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดตะโหมดในปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร มีการสันนิษฐานว่า พระพุทธรูปดังกล่าวสร้างในราชวงศ์อู่ทองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
โดยในยุคแรกชุมชนตะโหมดมีสภาพพื้นที่แห้งแล้ง กันดาร ห่างไกลความเจริญ ผู้คนอดอยาก จึงมีคำพูดติดปากว่าหุงข้าวเนา หัวมันเพา เนาลูกขี้ค้อน กล่าวคือเมื่อหุงข้าวจะต้องผสมมันสำปะหลังหรือลูกขี้ค้อนเพื่อให้เพียงพอในการรับประทานแต่ละมื้อในครัวเรือน เนื่องจากมีความแร้นแค้นด้านอาหาร เพราะพื้นที่ทำนาปลูกข้าวมีน้อย
“จุดเด่นสำคัญก็คือวัดตะโหมดเรียกว่าด้วยอาศัยหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระนักพัฒนา มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและท่านก็มียุทธศาสตร์ปลูกพืชต้องเตรียมดินจะกินต้องเตรียมอาหารจะพัฒนาการต้องพัฒนาคน นี่เป็นยุทธศาสตร์ของท่าน เป็นเคารพรักของคนชุมชนชาวตะโหมด
ประการต่อมาท่านให้ความสำคัญด้านการศึกษา ปัจจุบัน ต.โหมดมีโรงเรียนถึง 4 โรง คือ โรงเรียนวัดตะโหมด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะโหมด โรงเรียนเทศบาลบ้านตะโหมด และโรงเรียนประชาบำรุงอุทิตกิจจาทร เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ลูกหลานชาวตะโหมดได้ศึกษาได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ดำเนินชีวิตอยู่ใกล้กับพ่อแม่และครอบครัว ท่านมองว่าการจะพัฒนาอะไรต่อไปจะต้องเริ่มที่การพัฒนาคน”เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2566 เผย
พระครูประยุตธรรมธัช กล่าวต่อว่า ขณะนี้ชุมชนตะโหมดได้รับรางวัลลูกสีเขียวมาแล้ว 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลสิบปนนท์ เกตุทัต รางวัลประเภทชุมชนและรางวัลประเภทบุคคล โดยจะเหลือรางวัลประเภทเยาวชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจะมุ่งสร้างเด็ก เยาวชนในชุมชน ปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยผ่านสถาบันการศึกษาโรงเรียนในชุมชนเพื่อสู่ความยั่งยืนต่อไป
โดยจุดเริ่มต้นการได้รับรางวัล ดังกล่าวจากการจัดตั้งสภาลานวัดตะโหมดเมื่อปี 2538 ในการระดมความคิดของคนในชุมชนเพื่อหาทางออกร่วมกันในการจัดปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยมีพระสงฆ์วัดตะโหมดและผู้นำชุมชนเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน
“อาตมาในฐานะผู้ช่วยเลขาฯสภาลานวัดตะโหมดก็ได้เริ่มการจัดการมาตั้งแต่ปี 2538 จัดการด้านไหนก่อนก็เอา ด้านคนทำอย่างไรให้คนเกิดความสำนึกการอนุรักษณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้ม โดยเริ่มจากการพาญาติโยมในชุมชนทั้งหมดไปทัศนศึกษาดูงานที่ศูนย์ฯพิกุลทอง ศูนย์สิรินธร จ.นราธิวาสแล้วกลับมาประชุมกันว่าเขาประทับใจอะไรแล้วต้องการทำอะไรในชุมชนบ้าง เขาก็เริ่มว่าจะจัดป่าชุมชนเขาหัวช้างก่อน พอเริ่มได้เราก็กระจายไปสู่หมู่บ้านต่างๆ พาชาวบ้านไปเดินสำรวจเส้นทางป่าชุมชนหัวหัวช้าง โดยช่วงนั้นทำกันแบบบ้าน ๆ คดข้าวห่อจากวัดไป เอาแกงถุงข้าวก้นบาตรไป แล้วก็เดินสำรวจกัน นอกจากป่าชุมชนเขาหัวช้างแล้ว เราขยายไปสู่การอนุรักษ์น้ำตกท่าช้าง จัดการป่าห้วยนาจัดการป่าถ้ำขยายไปตลอดแนวเขตตำบลตะโหมดไปจนถึงป่าโหล๊ะจังกระ”พระครูประยุตธรรมธัชย้อนอดีตให้ฟัง
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดตะโหมด ระบุอีกว่า นอกจากเราจัดการด้านป่าแล้วยังมีจัดการด้านน้ำและดินในชุมชน ซึ่งในตำบลตะโหมดมีลำน้ำอยู่ 18 ห้วยกับ 2 คลอง มีการทำธนาคารน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินกับป่า ซึ่งการจัดการด้านป่าก็จะใช้ยุทธศาสตร์รักษาป่าเดิม เพิ่มเติมป่าใหม่ ทั้งในสวนยางพารา และผืนป่าธรรมชาติที่ยังไม่ได้ถูกบุกรุกทำลาย ขณะนี้ได้ดำเนินการไปประมาณ 2,000-3,000 ไร่ มีไม้ปลูกใหม่หลายหมื่นต้น โดยมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่า 60 ราย
ส่วนการจัดการด้านน้ำ ซึ่งมีอยู่ 18 ห้วย 2 คลองนั้น ปัจจุบันได้ทำธนาคารน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วว่า 300 แห่ง ขณะที่การพัฒนาเรื่องของดิน ทำอย่างไรให้มีความดินอุดมสมบูรณ์ จึงรณรงค์ให้มีการมาทำนาอินทรีย์ ปัจจุบันนี้แปลงนาอินทรีย์ในตำบลตะโหมด ซึ่งมีอยู่จำนวน 3 กลุ่มและทุกกลุ่มยังได้รับประกาศนียบัตรจากการเข้าร่วมโครงการออแกนิกไทยแลนด์ด้วย
“การที่เราได้จัดการสิ่งเหล่านี้ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่วัด ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มสมาชิกของพวกเรา แต่เกิดขึ้นสำคัญที่สุดคือ ตะโหมดไม่เคยแล้ง ตะโหมดไม่เคยที่จะโดนภัยพิบัติดินโคลนถล่มแล้วก็ส่งผลให้ชุมชนตะโหมดอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นำนิสิตนักศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมอยู่เป็นประจำ ไม่เฉพาะแต่สถาบันการศึกษาในภาคใต้ แม้แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสต ร์ บางเขน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือแม้กระทั่งโรงเรียนรุ่งอรุณก็ได้นำเด็ก ๆ มาศึกษาดูงาน ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชนกับกลุ่มคนที่มาศึกษาดูงานเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ แล้วมาประยุตก์ใช้กับการจัดการชุมชนต่อไป”เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2566 กล่าว
พระครูประยุตธรรมธัชยังได้วางแนวทางต่อยอดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำและป่าในระดับเยาวชนเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนว่าขณะนี้ได้ร่วมกับโรงเรียนวัดตะโหมดในการนำกล้าปาล์มมาปลูกในพื้นที่รกร้างของโรงเรียน ซึ่งยังไม่ได้นำมาทำประโยชน์ โดยทางวัดจะลงทุนให้ โดยนำเงินจากที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจำนวน 2 แสนบาทมาจัดซื้อกล้าปาล์มมาปลูกแล้วให้นักเรียนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เมื่อปาล์มให้ผลผลิตเมื่อไหร่แล้วค่อยนำเงินมาคืนกับทางวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ หากสำเร็จก็จะทำให้เด็ก เยาวชนเหล่านี้รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักษ์ดินและรักชุมชนตะโหมดต่อไป
สำหรับผู้สนใจเยี่ยมชมกิจกรรมของชุมชนเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่พระครูประยุตธรรมธัช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดตะโหมดและเจ้าคณะตำบลตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง โทร.08-9653-4889