ก.เกษตรฯ เร่งสร้างมาตรฐานฟาร์ม ใบมันสำปะหลัง ผลิตอาหาร 'จิ้งหรีด'ลดต้นทุน
"กระทรวงเกษตรฯ" ย้ำเดินหน้าสร้างมาตรฐานฟาร์ม รับจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารโลก ใช้ใบมันสำปะหลังเหลือใช้พัฒนาสูตรอาหาร “จิ้งหรีด” ลดต้นทุน
25 ต.ค.67 นายเอกภาพ พลซื่อ กล่าวว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย เพื่อรองรับมาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก ทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้
ล่าสุด สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA เปิดเผยผลสำเร็จของงานวิจัย ช่วยเกษตรกร โดยพัฒนาสูตร นำไปมันสำปะหลังที่เหลือใช้ มาเป็นอาหารจิ้งหรีด ยกระดับกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดไทยให้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภค
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร คาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงทั่วโลกจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 5 เท่า มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตัน/ปี และมีฟาร์มเลี้ยงมากกว่า 20,000 ฟาร์ม จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีความต้องการของตลาดและเกษตรกรนิยมเลี้ยงมากที่สุด มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ใช้พื้นที่และปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อย แต่ปัจจุบันราคาอาหารยังสูง 600 บาท / 30 กิโลกรัม
นางสาว ฐิฏิกานต์ สุริยะสาร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ระบุ การทดลองนำใบมันสำปะหลังเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำการทดลอง โดยบดผงทดแทนอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายในท้องตลาด ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยผลการทดลองพบว่าสูตรที่เหมาะสมมี 2 สูตร ได้แก่ สูตรอาหารที่ประกอบด้วยอาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปคิดเป็นร้อยละ 70 และมีใบมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนอบแห้งเรียบร้อยแล้วคิดเป็นร้อยละ 30 ทำให้สามารถเก็บผลผลิตจิ้งหรีดได้ภายใน 43 - 45 วัน และ สูตรที่ประกอบด้วยอาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปทางการค้าคิดเป็นร้อยละ 80 และมีใบมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนเรียบร้อยแล้วคิดเป็นร้อยละ 20 สามารถเก็บได้ภายในระยะเวลา 45 - 50 วัน โดยสูตรอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดทั้ง 2 สูตรสามารถผลิตจิ้งหรีดที่มีปริมาณไขมัน ปริมาณโปรตีน ปริมาณใยอาหาร ปริมาณเถ้า ปริมาณคาร์โบไฮเดรต ปริมาณไคติน ปริมาณแคโรทีนอยด์ ปริมาณคลอโรฟิลล์เอ ปริมาณคลอโรฟิลล์บี ไม่มีคอเลสเตอรอลและไม่มีไซยาไนด์ ส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงจิ้งหรีดลดลงร้อยละ 30 และ 20 ตามลำดับ และจากการนำไปทดลองเลี้ยงเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า สามารถผลิตจิ้งหรีดได้ขนาด 3 นิ้ว ภายในระยะเวลา 45 วัน ช่วยร่นระยะเวลาการเลี้ยงจากปกติ 50 – 60 วัน ทำให้ต้นทุนด้านอาหารลดลงได้มากถึงประมาณ 6,200 บาทต่อปี สร้างรายได้รวมกว่า 273,000 บาทต่อปี ที่สำคัญโครงการยังมีส่วนช่วยลดการเผาใบมันสับปะหลังที่สร้างปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ได้อย่างมาก