ศูนย์ศึกษาเขาหินซ้อนฯ ผลักดันพืชสมุนไพรไทย แปรรูปสู่เชิงพาณิชย์
กปร.เปิดอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉะเชิงเทรา ผลักดันพืชสมุนไพรไทย จากปลูกเพื่ออนุรักษ์สู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร มาตรฐาน อย.
นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า อาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นสถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่นำวัตถุดิบจากพืชสมุนไพรไทยมาแปรรูป เป็นอาคารที่ได้มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์และเวชสำอางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของกระทรวงสาธารณสุข
โดยในปี 2567 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมาตรฐาน อย. 4 รายการ ได้แก่ 1. สบู่ว่านสาวหลง 2. สบู่เหลวขมิ้นชัน 3. แชมพูอัญชัน และ 4. ครีมนวดอัญชัน นับเป็นแรงบันดาลใจให้กับเจ้าหน้าศูนย์ ฯ และเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตราฐาน อย. จะช่วยด้านการขายได้ง่ายขึ้น และมีช่องทางมากขึ้น
“ในตอนแรกศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง มีผลิตภัณฑ์อยู่ประมาณ 32 รายการที่ผ่านมาตรฐาน อย. ในปี 2567 สามารถจดแจ้งเลขที่ อย.มากถึง 93 รายการ และในปี 2568 คาดว่าจะจดแจ้งเลขที่ อย. ได้ประมาณ 162 รายการหรือมากกว่านั้น เนื่องจากเกษตรกรขยายผลที่ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ และเวชสำอางต่างๆ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และศูนย์สาขาฯ นั้นมีความตื่นตัว และพัฒนากระบวนการผลิตตามมาตรฐาน อย. มากขึ้น” นางสุพรกล่าว
ด้านนางสาวพัชรินทร์ สุวรรณ์ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์เขาหินซ้อน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานสวนพฤกษศาสตร์ เป็นหนึ่งใน 13 หน่วยงานที่ร่วมสนองงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ โดยดำเนินการศึกษาทดลอง รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูป สนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมอนุรักษ์พรรณพืชสมุนไพรท้องถิ่น และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เป็นยารักษา อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปและการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในหลาย ๆ ด้าน
เป็นการต่อยอดอาชีพผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไปสู่ตลาดสากล โดยในปี 2567 สำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมอาคารให้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ด้านพืชสมุนไพรตลอดจนการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มี มาตรฐานและได้ทำการจดทะเบียนรับรองคุณภาพจาก อย.
“การดำเนินงานในระยะต่อไป จะวางแผนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการศึกษาวิจัยทางวิชาการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะ รวมทั้งนำองค์ความรู้ไปส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ นำไปปลูกเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ อีกทางหนึ่งด้วย” นางสาวพัชรินทร์ กล่าว
ด้านนางลลิตา พรพนาวัลย์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสํานักงานสาธารณสุขได้เข้ามาดูแลเรื่องสถานที่ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ อาทิ พื้นที่เก็บและจัดเตรียมวัตถุดิบ พื้นที่การผลิตผลิตภัณฑ์ และพื้นที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะตามข้อกำหนดของสำนักงานอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
“ได้มุ่งเน้นการลดขั้นตอนระยะเวลาการใช้เอกสาร เพื่อให้การขึ้นทะเบียน อย.สู่มาตรฐานสากล เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ตามนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพของรัฐบาล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ประชาชนได้รับโอกาสทั้งในด้านการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และร่วมขับเคลื่อนโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย” นางลลิตา กล่าว