'เครือข่าย-พันธมิตรการศึกษา' ชงให้ 'รัฐบาล-เอกชน' หนุน โอกาสเรียนรู้-อาชีพ
"กสศ." และ พันธมิตรการศึกษา จัดเวทีวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชง6ข้อเสนอให้ "รัฐบาล" เร่งกระจายอำนาจ-ลดเหลื่อมล้ำ จับมือ "เอกชน" สร้างโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก และและกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่3 ซึ่งมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาร่วมขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อหลัก คือ การเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างระบบการศึกษาแบบครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เสมอภาค สำหรับเยาวชน และประชากรวัยแรงงาน
โดย น.ส.อ้อมแก้ว เวชยชัย หัวหน้าฝ่ายพัฒนาตลาดเอเชีย องค์กร Global Steering Group for Impact (GSG Impact) กล่าวว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการลงทุนในภาคการศึกษาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีความร่วมมือข้ามภาค รวมถึงเน้นถึงความจำเป็นของการส่งต่อข้อมูลแก่สาธารณชนและนักลงทุนเกี่ยวกับบทบาทของการเงินนวัตกรรมในระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้เห็นถึงคุณค่าของการลงทุนต่อสังคม ทั้งนี้การเชิญชวนองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามาร่วมลงทุนจะช่วยขยายขอบเขตของโครงการด้านการศึกษา
ขณะที่ น.ส.แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส มูลนิธิเคเอฟซี เสริมว่า ทางออกการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน และทักษะที่สามารถใช้ในชีวิตจริงหลังสำเร็จการศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างผลประโยชน์เชิงบวกที่ยั่งยืนในระบบการศึกษา
นอกจากนั้นในการประชุมนานาชาติ ยังเผยถึงข้อมูลด้านการศึกษาที่จะช่วยสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและพัฒนาไปสู่วัยแรงงานที่สำคัญ คือ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีความท้าทายด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเกือบ 80 ล้านคนอยู่ในภาวะยากจนพิเศษ โดย 66% คือ แรงงานนอกระบบ 22% เยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม และยังมีหลายล้านคนที่ยังคงเป็นแรงงานเด็ก การเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลก ด้านเทคโนโลยี ด้านประชากร และด้านสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (Technical and Vocational Education and Training: TVET) โดยTVET เป็นทางเลือกการศึกษาเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่การพัฒนาโปรแกรมการเรียนที่ตอบโจทย์ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาล ภาคเอกชน ครูผู้สอน ไปจนถึงตัวผู้เรียน
ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีข้อสรุปสำคัญที่ต้องการส่งผ่านไปยังหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ
1. การเข้าถึงการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องมอบโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือความท้าทายต่างๆ
2. หลักสูตรการศึกษาควรสอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริงและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอาชีพในอนาคต
3. เพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพครู เครื่องมือ และทรัพยากร
4. การกระจายอำนาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
5. รัฐบาลควรเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงช่องว่างของนโยบายเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6.การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2573