‘อ.แหม่ม - เกณิกา’ แนะวิธีสังเกตพระเครื่อง เสนอคุมเข้มผิดพระธรรมวินัย
‘อ.แหม่ม - เกณิกา’ แนะนำคนรุ่นใหม่ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วงการพระเครื่อง ยืนยันพระกริ่งปวเรศของแท้ เป็นเนื้อนวโลหะผิวกลับดำ – พร้อมเสนอให้ฝ่ายบ้านเมืองและพระสงฆ์ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแก้ปัญหาพระนอกรีตที่ปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย
นางเกณิกา เสตะปุระ หรือ อ.แหม่ม ประธานชมรมเปิดตำนานพระกริ่งปวเรศ และผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา กล่าวถึงการดูพระเครื่องบูชา ให้กับผู้ที่เริ่มสนใจในวงการดังกล่าวว่า ทุกวันนี้ มีผู้สนใจในเรื่องของพระเครื่องเป็นจำนวนมาก โดยเป็นที่น่ายินดีว่า มีคนรุ่นใหม่และผู้สนใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น แต่เป็นที่น่ากังวลสำหรับคนที่เข้ามาใหม่ว่า จะมีวิธีการดูพระเครื่องอย่างไรว่าองค์ไหนแท้ องค์ไหนเทียม โดยเฉพาะพระกริ่งปวเรศ ซึ่งมีผู้อ้างว่า ได้รับมาครอบครอง และเคยมีผู้รู้เฉลยว่า พระกริ่งปวเรศ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงสร้างขึ้นนั้น มีอยู่เนื้อเดียว คือเนื้อนวโลหะผิวกลับดำ เมื่อขัดเนื้อในจะเป็นสีจำปาเทศ และเมื่อทิ้งไว้ถูกกับอากาศจะกลับดำอีกครั้งหนึ่งในเวลาไม่นาน
ซึ่งตนก็จะเสริมว่าจากข้อมูลที่ มีผู้รู้มาเฉลยเรื่องพระกริ่งปวเรศที่มีแค่เนื้อนวะโลหะเมื่อขัดแล้วผิวจะกลับดำอีกครั้งนั้นถูกต้อง โดย อ.แหม่มจะเรียกว่าเนื้อนวะโลหะเต็มสูตร นอกจากเนื้อนวะโลหะเต็มสูตรแล้ว ยังมีเนื้อ สัมฤทธิ์อีก 5 ตระกูล คือ
1.เนื้อสัมฤทธิ์ผล หรือ ตรีโลหะ
2.เนื้อสัมฤทธิ์โชค หรือ ปัญจโลหะ
3. เนื้อสัมฤทธิ์ศักดิ์ หรือ สัตตะโลหะ
4. เนื้อสัมฤทธิ์คุณ หรือ นวะโลหะ
5.เนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือ นวะโลหะที่ผสานกันโดยสมบูรณ์
ส่วน นวะโลหะเต็มสูตร คือ โลหะทั้งเก้าชนิดที่ผสมผสานกันตามสัดส่วนมูลสูตรโบราณจึงเรียกว่าเนื้อนวะโลหะเต็มสูตร เมื่อขัดเนื้อในจะมีสีออกนาคหรือสีจำปาเทศทิ้งไว้ระยะหนึ่งผิวจะกลับดำตามธรรมชาติอีกครั้ง
“พระกริ่งปวเรศ ถือเป็นพระกริ่งในกลุ่มวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งถือเป็นพลังพุทธนุภาพแรงที่สุด เนื่องจากองค์ผู้สร้างได้สืบทอดการสร้างพระกริ่งจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รวมทั้ง จากการติดต่อกันไปมาระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์กัมพูชา จึงได้รับความเชื่อเรื่องพระกริ่ง ที่ช่วยปกปักษ์รักษามนุษย์ให้หายจากโรคภัยต่างๆ และป้องกันอันตรายได้ องค์ผู้สร้างจึงได้มีความคิดที่จะสร้างขึ้นมา เพื่อถวายแด่เจ้านายชั้นสูง ทั้งนี้ ยังมีพระกริ่งที่อยู่ในกลุ่มต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่ผู้ที่เริ่มสนใจศึกษาควรจะทำความรู้จักไว้ เพื่อที่จะได้สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบได้อย่างถูกต้อง” นางเกณิกากล่าว
นอกจากนี้ นางเกณิกา หรือ อ.แหม่ม ยังกล่าวถึงกรณีที่พระสงฆ์บางรูปปฏิบัติผิดไปจากพระธรรมวินัย เช่น ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของฆราวาส ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสมณวิสัย ว่า ต้องยอมรับว่า สิ่งที่ปรากฏในสื่อทุกแขนง ถึงความประพฤติไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ สร้างความบั่นทอนจิตใจให้กับพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ทั้งนี้ ความคาดหวังของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระสงฆ์ในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ ต้องการให้พระสงฆ์เป็นพระสงฆ์จริงๆ และปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรแก่การเคารพศรัทธาของผู้คน แต่ในปัจจุบันที่มีสิ่งยั่วยุให้จิตใจของพระสงฆ์ไขว้เขวจำนวนมาก เช่น ลาภสักการะ เสียงสรรเสริญ ความหลงในกิเลสไม่ต่างฆราวาส ฯลฯ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่อยากให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ จำเป็นจะต้องให้ฝ่ายบ้านเมืองและพระสงฆ์ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแก้ปัญหา โดยจะต้องส่งเสริมและให้กำลังใจพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การเพิ่มบทบาทพระวินยาธิการ ในการปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งอาจจะบัญญัติเพิ่มเติมให้เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา การบังคับใช้กฎหมายบางลักษณะให้เหมือนกับฆราวาสทั่วไป เพื่อดำรงให้พระสงฆ์ยังคงบทบาทในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณและสติปัญญา เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพุทธศาสนิกชน โดยจะต้องยึดกรอบของพระธรรมวินัยเป็นหลัก และสามารถบูรณาการให้สอดคล้องกับยุคสมัย รวมทั้ง ต้องมีบทบาทในการสงเคราะห์ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย รวมถึงบทบาทการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาชุมชน โดยอาศัยจุดแข็งของพระสงฆ์ไทยที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นเรื่องการเป็นผู้นำการรักษาสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีไทย อาจจะนำมาบูรณากับหลักธรรมทางพุทธศาสนา เป็นตัวนำในการสร้างกิจกรรมพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วย