'รัดเกล้า' นำผู้ปกครองนักเรียน หารือ ศธ. เหตุโรงเรียนบางพลัดปิดกระทันหัน
“นักเรียนต้องมาก่อน” รัดเกล้า อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำผู้ปกครองเข้าหารือกระทรวงศึกษา เหตุโรงเรียนในเขตบางพลัดปิดตัวกระทันหัน
วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้นำตัวแทนผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวอย่างกะทันหันของโรงเรียนธรรมภีรักษ์รุ่งประชา แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด เข้าพบนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ โดยมีประเด็นการหารือมี 4 ข้อ คือ
1. บทบาทและหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้
2. ปัญหาค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ เช่น ค่าแรกเข้าโรงเรียนใหม่ เป็นต้น
3. ความเป็นธรรมในการรับเอกสารของบุตรหลาน เพื่อนำไปสมัครที่โรงเรียนใหม่ ในขณะที่ผู้ปกครองยังมีสภาพเป็นหนี้ค่าเทอมของโรงเรียนธรรมภีรักษ์รุ่งประชา
และ 4. เรียกร้องการแก้กฎหมาย เพื่อบังคับให้การปิดกิจการโรงเรียน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและแจ้งผู้ปกครองให้ทราบเรื่องนานกว่านี้
ในประเด็นแรก นางรัดเกล้าเป็นผู้แทนผู้ปกครองที่เดือนร้อน แจงว่าการประกาศปิดกิจการของโรงเรียนดังกล่าวส่งผลกระทบให้ผู้ปกครองอีกทั้งก่อให้เกิดข้อกังวลใจและข้อสงสัยในบทบาทการทำงานของหน่วยงาน สช. ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
โดยนายสิริพงศ์ ได้แจ้งระเบียบการปิดกิจการของโรงเรียนเอกชนให้กลุ่มผู้ปกครองได้รับทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เช่น โรงเรียนแจ้งปิดกิจการในวันที่ 18 พ.ย. ก่อนจะปิดภาคเรียนที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการขออนุญาตเลิกกิจการโรงเรียนเอกชนในระบบที่กำหนดให้แจ้งการปิดกิจการก่อนล่วงหน้าประมาณ 120 วันก่อนปิดภาคเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองได้เตรียมตัว อีกทั้งตอกย้ำว่า การทำงานของ สช. ยึดเกณฑ์ของกฏและระเบียบเป็นหลักเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
อย่างไรก็ดี นางรัดเกล้าเป็นตัวแทนบอกเล่าเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ ที่มองว่าการแจ้งปิดกิจการล่วงหน้า 120 วัน อาจเป็นระยะเวลาที่น้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง แม้ในครั้งนี้โรงเรียนได้ดำเนินการภายใต้ระเบียบ แต่ผู้ปกครองเรียกร้องขอให้มีการปรับแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นอีก โดยเสนอให้มีการยืดระยะเวลาออกไปให้มากกว่า 120 วัน เป็น 1 ปีการศึกษาแทน
อีกทั้ง ผู้ปกครองที่มาร่วมหารือด้วย เสริมว่าควรมีระเบียบบังคับให้โรงเรียนที่จะทำการปิดตัวต้องจัดทำแผนรองรับการปิดกิจการของโรงเรียนเอกชน โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น คณะผู้สอน ผู้ปกครอง ฯลฯ มีส่วนร่วมในการออกความเห็นในการวางแผน ซึ่งในประเด็นนี้ นายสิริพงศ์ เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี พร้อมรับไปศึกษาความเป็นไปได้เพื่อปรับแก้ระเบียบดังกล่าวให้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนที่เป็นนักเรียน
นอกจากนี้ นางรัดเกล้าและคณะยังหารือในประเด็นการจัดหาสถานศึกษาใหม่ให้แก่นักเรียน ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารโรงเรียนธรรมภีรักษ์รุ่งประชาได้เสนอโรงเรียน 33 แห่งที่สามารถรองรับนักเรียนได้ แต่บางแห่งรับได้จำนวนจำกัด และบางแห่งมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าสูง จึงสร้างความกังวลและภาระทางการเงินให้ผู้ปกครอง นายสิริพงศ์ ได้กำชับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ให้ไปชี้แจงกับโรงเรียนธรรมภีรักษ์รุ่งประชาว่าจะต้องจัดหาโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนเพิ่มเติมจากในจำนวน 33 แห่งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้แก่ผู้ปกครอง โดยให้ดูแลติดตามว่าโรงเรียนต่างๆ ที่ได้คัดเลือกมา สามารถรองรับนักเรียนจากโรงเรียนธรรมภีรักษ์รุ่งประชาได้ครบถ้วน เด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบได้เข้าเรียนอย่างแน่นอน 100%
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นเรื่องการออกใบรายงานผลการศึกษา หรือใบเกรดของนักเรียนนั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ปกครองมีความกังวลว่า หากมีกรณีที่ผู้ปกครองยังไม่ได้ชำระค่าเล่าเรียนอาจทำให้ถูกยึดใบเกรด ซึ่งขอยืนยันว่าใบเกรดไม่สามารถเป็นหลักประกันสร้างเงื่อนไขให้จ่ายค่าเล่าเรียน แต่ในฐานะที่ ศธ.เป็นคนกลางยังยืนยันว่าเป็นหนี้ก็ต้องชำระ ดังนั้นจึงมีแนวทางร่วมกันว่าให้มีการเจรจาระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนในการรับสภาพหนี้ เพื่อหาทางออกให้แก่กลุ่มผู้ปกครองในการแบ่งจ่ายชำระหนี้ แต่จะไม่มีกรณีว่าต้องชำระค่าเล่าเรียนเป็นเงินก้อนถึงจะได้ใบเกรด ซึ่งกรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
นางรัดเกล้าปิดท้ายการหารือด้วยการขอบคุณนายสิริพงศ์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และยืนยันว่าตนพร้อมช่วยติดตาม และช่วยเหลือผู้ปกครองจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย ในฐานะของคนที่มีลูกเช่นเดียวกัน ตนเข้าใจในความหนักใจของผู้ปกครอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ “นักเรียนต้องมาก่อน” เยาวชนที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการดูแลให้มีโอกาสศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง