20 ปีสึนามิ มก.มุ่งยกระดับสถานีวิจัยชายฝั่งอันดามัน สร้างองค์ความรู้
ครบรอบ 20 ปีสึนามิ คณะผู้บริหาร ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมพิธีรำลึกผู้เสียชีวิต ณ หาดประพาส จ.ระนอง มุ่งมั่นยกระดับสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน เป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาชายฝั่งให้ครอบคลุมในทุกมิติในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล
รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ลงพื้นที่หาดประพาส ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ศูนย์บริหารงานวิจัยและสนับสนุนวิชาการ คณะประมงในระหว่างวันที่ 25-26 ธ.ค.2567 เพื่อเป็นประธานในพิธีรำลึกเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 20 ปี จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547
โดยจัดกิจกรรมในช่วงเช้าวันที่ 25 ธ.ค.ได้มีการปล่อยสัตว์น้ำคืนถิ่น เต่าทะเล หอยทะเล และปลูกป่าชายเลน บริเวณชายหาดประพาส จากนั้นช่วงบ่ายมีการเสวนา ”2 ทศวรรษ สึนามิกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์“ โดยมี ส่วนราชการ และชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วม
ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค.รศ.ดร.วิโรจ เป็นประธานเปิดงาน”ครบรอบ20 ปี สึนามิ” และประกอบพิธีทำบุญสองศาสนา พุทธและอิสลาม พร้อมวางดอกไม้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ณ อนุสรณ์สถานความสูญเสียจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการของสถานีวิจัยและกิจกรรมของภาคีเครือข่ายฯโดยมีผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน
รศ.ดร.วิโรจ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีวิจัยฯและร่วมกิจกรรม”ครบรอบ20 ปี สึนามิ”ในครั้งนี้ โดยระบุว่า สถานีวิจัยฯแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี2524 หลังรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบพื้นที่ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยด้านประมง บนเนื้อที่ 220 ไร่ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก จากนั้นปี 2533 ขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จึงได้วางแผนพัฒนาสถานีวิจัยแห่งนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นตามเป้าหมายที่รัฐบาลให้ไว้
กระทั่งตนเองได้ก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งอธิการบดีระหว่างปี 2545-2549 โดยมีการเตรียมยกระดับสถานีวิจัยแห่งนี้เป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาชายฝั่งอันดามันให้ครอบคลุมในทุกมิติในพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งอันดามันประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสถานีวิจัยชายฝั่งอันดามันที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
“การเกิดสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปี 47 มันเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเหมือนกัน เราจะทำแค่งานวิชาการงานวิจัยไม่ได้แล้ว เราจะต้องมาเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย การเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นเราได้รับความสูญเสียทั้งหมดทั้งตึกอาคาร เจ้าหน้าที่ รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ แต่โชคดีเราได้รับงบประมาณจากรัฐ 200 ล้าน มูลนิธิเซฟเดอะชิลเดรน ยูเค 10 กว่าล้าน และงบฯ วิจัยที่ทำวิจัยแต่ละเรื่องอีก 40-50 ล้าน ก็เอามาฟื้นฟูพัฒนาที่นี่ และที่สถานีวิจัยวนศาสตร์บางม่วงที่ตะกั่วป่า พังงาด้วย”
ที่ปรึกษาอธิการบดีม.ก.กล่าวต่อว่า หลังได้งบฯ มา ก็มาสร้างอาคารหลังใหม่ของสถานี โดยมอบให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคนออกแบบโครงสร้างอาคารเป็นรูปหัวเรือเพื่อรับแรงกระแทกจากคลื่นสึนามิได้ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต พร้อมกับสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสึนามิและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคตด้วย นอกจากนี้ยังร่วมฟื้นฟูอาชีพทำประมงให้กับชาวบ้านด้วย
“มันเป็นวิกฤติการณ์ที่น่าเศร้าสลด ชาวบ้านที่เขามีบ้านอยู่รอบสถานีวิจัยเพื่อไปทำการประมง สึนามิกวาดไปหมดเสียชีวิตเกือบหมด เรืออวนเครื่องมือทำการประมงพังหมด ทุกคนสิ้นเนื้อประดาตัว สิ่งแรกที่เราทำฟื้นฟูสภาพจิตใจก่อน แล้วเราฝึกอบรมอาชีพใหม่หมด ช่วยหาช่วยสร้างเครื่องมือทำกินใหม่ โดยส่งคณาจารย์และนิสิตมาช่วยกัน คนที่รอดชีวิตผมจะให้เขามาดูแลพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีสถาบันการศึกษาไหนมีประสบการณ์ครั้งนี้เท่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโอกาสดีมากทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตอยากฝากทุกคนด้วย”รศ.ดร.วิโรจ กล่าวทิ้งท้าย