ปภ.โอนเงินช่วยน้ำท่วม 9,000 บาท รอบ4 ย้ำลงทะเบียนถึง 15 ม.ค. 68
ปภ. เผย โอนเงินช่วยน้ำท่วม ตาม มติ ครม. 3 ธ.ค. 67 รอบที่ 4 ที่ จ.กระบี่ ย้ำประชาชนยื่นลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ม.ค. 68
3 ม.ค. 68 กรมบรรเทาป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) เผยความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค. 68 เวลา 18.00 น.) มีผู้ลงทะเบียนยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือมาแล้วจำนวน 1,102,899 ครัวเรือน ผ่านการประชาคมหมู่บ้านมาแล้ว 668,418 ครัวเรือน ผ่านการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 363,166 ครัวเรือน และผ่านการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) และส่งข้อมูลให้ ปภ. แล้วจำนวน 362,774 ครัวเรือน ซึ่ง ปภ. ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้วจำนวน 240,568 ครัวเรือน ซึ่งธนาคารออมสินโอนเงินแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 166,795 ครัวเรือน เป็นเงินกว่า 1,150,155 ล้านบาท
โดยในวันนี้ (3 ม.ค. 67) จะโอนเงินช่วยน้ำท่วม ครั้งที่ 4 ให้ประชาชนในพื้นที่ จ. กระบี่ จำนวน 94 ครัวเรือน และคาดว่าจะโอนเงินช่วยเหลือฯ ครั้งที่ 5 ให้ประชาชนในพื้นที่ จ.พัทลุง ตรัง สงขลา และยะลา จำนวนรวม 71,422 ครัวเรือน
ในวันที่ 6 ม.ค. 68 กำชับจังหวัดเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนดอย่างรอบคอบ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนฯ ดำเนินการลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ม.ค. 2568
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่ง ปภ. ได้ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับจังหวัดที่ประสบภัยในการเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด โดยจากข้อมูลล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค. 68 เวลา 18.00 น.) มีผู้ลงทะเบียนยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือมาแล้วจำนวน 1,102,899 ครัวเรือน ผ่านการประชาคมหมู่บ้านมาแล้ว 668,418 ครัวเรือน ผ่านการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 363,166 ครัวเรือน และผ่านการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) และส่งข้อมูลให้ ปภ. แล้วจำนวน 362,774 ครัวเรือน ซึ่ง ปภ. ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้วจำนวน 240,568 ครัวเรือน ที่เหลือ 121,996 ครัวเรือน อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสถานะบุคคล โดยที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ให้ผู้ประสบภัยแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง จำนวน 166,795 ครัวเรือน เป็นเงินกว่า 1,150,155 ล้านบาท ซึ่งในวันนี้ (3 ม.ค. 68) ธนาคารออมสินจะโอนเงินช่วยเหลือฯ เข้าบัญชีผู้ประสบภัย ครั้งที่ 4 ให้ประชาชนในพื้นที่ จ. กระบี่ จำนวน 94 ครัวเรือน และคาดว่าจะโอนเงินช่วยเหลือฯ ครั้งที่ 5 ให้ประชาชนในพื้นที่ จ.พัทลุง ตรัง สงขลา และยะลา จำนวนรวม 71,422 ครัวเรือน ในวันที่ 6 ม.ค. 68
“เนื่องจากมีประชาชนยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องและประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือฯ โดยเร็ว ขอให้จังหวัดเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนดอย่างรอบคอบ โดยผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ จะต้องเป็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในห้วงวันที่ 20 พ.ค. – 2 พ.ย. 67 และประชาชนในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 3 พ.ย. 67 - 31 ธ.ค. 67 โดยจะต้องได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสองกรณี กรณีแรกคือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน และมีทรัพย์สินเสียหาย และกรณีที่สองที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 7 วัน ในกรณีที่ถูกน้ำท่วมหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เข้าเกณฑ์การได้รับความช่วยเหลือฯ เร่งดำเนินการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือฯ โดยสามารถลงทะเบียนได้ทั้งในรูปแบบ online ผ่านเว็บไซต์ flood67.disaster.go.th และในรูปแบบ onsite ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ม.ค. 68 ที่จะถึงนี้“
ทั้งนี้ จากข้อมูลการโอนเงินของธนาคารออมสินที่ผ่านมา 3 รอบ พบว่า ยังมีปัญหาการโอนเงินไปยังผู้ประสบภัยไม่สำเร็จ เนื่องจากประชาชนยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน และสถานะทางบัญชีไม่ปกติ จำนวนกว่า 2,000 ครัวเรือน จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนทำการตรวจสอบการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชนให้เรียบร้อย หากยังไม่ได้ผูกบัญชีฯ ขอให้ติดต่อธนาคารใดก็ได้เพื่อดำเนินการผูกบัญชีโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดข้องในการโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยจะได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็ว