ครม.ไฟเขียวออกสลากการกุศล 11 ล้านฉบับ ระดมเงินหมื่นล้าน ภายใน 2 ปี
ครม.ไฟเขียวออกสลากการกุศล 11 ล้านฉบับ ระดมเงินหมื่นล้าน ภายใน 2 ปี หวังพัฒนาศึกษา-ระบบสาธารณสุข ลด ความเหลื่อมล้ำ
7 มกราคม 2568 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทบทวนหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล เพื่อให้การพิจารณาและการติดตามการออกสลากการกุศลครั้งต่อไปเป็นไปอย่างเหมาะสม มีความรอบคอบ ชัดเจนยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ดังนี้
1. ให้องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เช่นเดิม
2. ให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์และแนวทางในการพิจารณาการออกสลากการกุศล (หลักเกณฑ์ฯ) เป็นดังนี้
2.1 ประเภทของหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุน ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร
2.2 ลักษณะของโครงการที่ขอรับการสนับสนุน
1) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา การสาธารณสุขหรือการลดความเหลื่อมทางสังคม รวมถึงเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมอย่างทั่วถึงในวงกว้าง
2) เป็นโครงการที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ หรือได้รับการจัดสรรแต่ไม่เพียงพอ และไม่มีการดำเนินงานซ้ำซ้อนกับโครงการที่เสนอขอรับเงินงบประมาณจากภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งไม่มีลักษณะเป็นเงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการหรือดำเนินกิจกรรมส่งเสริมทั่วไป
3) เป็นโครงการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากการกุศลมาก่อน
2.3 การพิมพ์สลากการกุศลกำหนดให้ไม่เกินจำนวน งวดละ 11 ล้านฉบับ
2.4 วงเงินที่จะให้การสนับสนุนโครงการต้องไม่เกินโครงการละ 1,000 ล้านบาท และการพิจารณาสนับสนุนโครงการที่ขอออกสลากการกุศลจะต้องมีวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
2.5 การพิจารณาออกสลากการกุศลในครั้งถัดไป จะดำเนินการภายหลังจากสำนักงานสลากฯ ออกสลากการกุศลครบวงเงินตามโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติครั้งก่อนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
2.6 รายละเอียดข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุน อย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมาของโครงการ เหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ เป้าหมาย รวมถึงผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่สะท้อนถึงประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมอย่างทั่วถึงในวงกว้าง แผนการดำเนินงาน ผลประกอบการและการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุน ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินโครงการและแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ เป็นต้น
2.7 การกำกับและติดตามโครงการสลากการกุศล 1) หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากการกุศลต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับและติดตามโครงการสลากการกุศลหรือตามแนวทางการกำกับและติดตามโครงการสลากการกุศลอื่นใด ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด 2) ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาผูกพันวงเงิน ขยายระยะเวลาผูกพันวงเงิน หรือขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนเบิกจ่ายตามเหตุผลความจำเป็นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกการสนับสนุนเงินจากการออกสลากการกุศลให้โครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ หากประเภทของหน่วยงานหรือลักษณะโครงการที่ขอรับการสนับสนุนแตกต่างจากหลักเกณฑ์และแนวทางในการพิจารณาดังกล่าวข้างต้น ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี
3. ช่องทางการยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากการกุศล
3.1 ให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กำหนดระยะเวลาการยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากการกุศลและหลักเกณฑ์ฯ บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสลากฯ
3.2 หน่วยงานที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากการกุศลยื่นข้อเสนอที่ สคร.
4 การเปิดเผยโครงการที่ได้รับการสนับสนุน ให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่รายชื่อหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุน ชื่อโครงการและวงเงินที่ได้รับการสนับสนุน บนเว็บไซต์ของ สคร. และสำนักงานสลากฯ
5 สัดส่วนการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศล ดังนี้ 1) ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล 2) ไม่เกินกว่าร้อยละ 22.5 เป็นเงินรายได้ที่ให้กับหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุน 3) ร้อยละ 0.5 เป็นค่าภาษีการพนัน 4) ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากการกุศลด้วย กรณีมีเงินคงเหลือภายหลังจากการจัดสรรการสนับสนุนโครงการสลากการกุศลให้สำนักงานสลากฯ นำส่งเงินดังกล่าวคืนเป็นรายได้แผ่นดิน
“การดำเนินการโครงการสลากการกุศลจะช่วยสนับสนุนโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา การสาธารณสุข หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมอย่างทั่วถึงในวงกว้าง ที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐหรือได้รับการจัดสรรแต่ไม่เพียงพอ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวได้อย่างทันท่วงทีซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”นายคารม กล่าว