'เลขาฯกก.โอลิมปิกไทย' หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อนเลือกปธ.โอลิมปิกไทยคนใหม่

'เลขาฯกก.โอลิมปิกไทย' หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อนเลือกปธ.โอลิมปิกไทยคนใหม่

จ่อเลือกประธานโอลิมปิกแห่งประเทศไทยคนใหม่แทน 'บิ๊กป้อม' วันที่ 25 มี.ค. นี้ 'เลขาฯคณะกรรมการโอลิมปิกไทย' หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อน ชี้ สเปคต้องเป็นผู้นำเสียสละ-โปร่งใส

พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ "เสธน้อย" เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความห่วงใยก่อนการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯคนใหม่ต่อจาก "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2568 พร้อมเผยถึงการบริหารงานในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา และความท้าทายที่รอคอยผู้นำคนใหม่

พล.อ.วิชญ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการกีฬาไทย ผมอยากฝากถึง 37 สมาคมให้พิจารณาเลือกคนที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล และคำนึงถึงอนาคตของลูกหลาน ต้องเป็นคนที่มีความเสียสละ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ที่สำคัญต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรกีฬาระดับนานาชาติ ทั้ง IOC, OCA และองค์กรกีฬาในภูมิภาค เพื่อผลักดันวงการกีฬาไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
 

"สิ่งผมที่ห่วงมากที่สุดคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในวงการกีฬา ซึ่งรูปแบบผลประโยชน์ในวงการกีฬา อาทิ การกินค่าหัวคิวเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาแทนที่เขาจะได้ 100 บาท แต่กลับได้ 50 บาท การแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตเรื่องตั๋วเครื่องบิน เช่น การเปลี่ยนจากเครื่องลำใหญ่เป็นลำเล็กเพื่อเอาส่วนต่าง" พล.อ.วิชญ์ กล่าวยกตัวอย่างประกอบ

พล.อ.วิชญ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ มีรายได้หลักมาจากรับเงินสนับสนุนจาก IOC และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) รวมแล้วประมาณ 19 ล้านบาทต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 13 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา ค่าเดินทาง ชุดแข่งขัน และสวัสดิการต่างๆ รวมถึงเงินรางวัลสำหรับนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัล ซึ่งจะได้รับเงินเดือนไปตลอดชีวิต
 

สำหรับผลงานของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานฯในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา เลขาธิการโอลิมปิกไทย เล่าว่า  มีการพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะการยกระดับวิทยาศาสตร์การกีฬา การปรับปรุงสำนักงานให้ทันสมัย การพัฒนาสวัสดิการนักกีฬา และการเพิ่มเงินรางวัลสำหรับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พล.อ.วิชญ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการทั้งหมดมี 35 คน รูปแบบการเลือกตั้งจาก 37 สมาคมกีฬา ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 ท่าน ตัวแทนจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่เป็นคนไทย 1 คน ตัวแทนนักกีฬาที่เคยได้รับเหรียญโอลิมปิก 1 คน รวมเป็น 35 คน 

"ผมไม่ขอเปรียบเทียบหรือสนับสนุนใครเป็นพิเศษ แต่เห็นว่าผู้ที่จะได้รับเลือกควรเป็นบุคคลที่มีความเสียสละ และตั้งใจพัฒนาวงการกีฬาอย่างแท้จริง ผมตอนนี้วัย 75 ปี มีความประสงค์จะขอพักผ่อนหลังจากทำหน้าที่เลขาธิการมาอย่างยาวนาน และหวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความทุ่มเทเข้ามาสานต่องานต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของวงการกีฬาไทยในอนาคต" พล.อ.วิชญ์ กล่าว