'ไอเอฟดีโพล' เผยผลสำรวจ 6เดือน 'รัฐบาล-นายกฯ' ชี้ประชาชนไม่พอใจ

"ไอเอฟดีโพล" เผย ประชาชน ไม่พอใจ ผลงานรัฐบาล-แพทองธาร 6 เดือนแรก เหตุขาดความโปร่งใส ขาดประสิทธิภาพการทำงาน "นักวิชาการ" แนะเร่งเรียกความเชื่อมั่น ใน4เรื่องด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไอเอฟดีโพล เผยถึงผลสำรวจเรื่อง ความพึงพอใจการทำงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในรอบ 6 เดือนแรก จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,303 ตัวอย่างกระจายทั่วภูมิภาค สำรวจ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. 2568 โดยผลสำรวจระบุว่าผลงาน 6 เดือนแรก ประชาชนไม่พึงพอใจมากและไม่ค่อยพอใจต่อรัฐบาล คิดเป็น 66.43% ขณะที่ประชาชนไม่พึงพอใจมากและไม่ค่อยพอใจต่อ น.ส.แพทองธาร คิดเป็น 66.77%
โดย 5 ประเด็นหลักที่ประชาชนไม่พึงพอใจมากและไม่ค่อยพอใจ ดังนี้
ด้านการประเมินการทำงานรัฐบาล
1. ขาดความโปร่งใสหรือตรวจสอบได้ คิดเป็น 69.59%
2. ยังขาดประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า คิดเป็น 67.21%
3. ยังไม่สามารถรับมือ แก้ปัญหา ตอบสนองตรงจุด ทันเวลา คิดเป็น66.26%
4. ยังไม่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจและผลที่ตามมาเท่าที่ควร คิดเป็น66.02%
5. ลำเอียง การไม่ได้ดูแลทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม คิดเป็น65.45%
ขณะที่ผลสำรวจเพื่อประเมินการทำงานของ น.ส.แพทองธาร พบว่า
1. ขาดความโปร่งใส หรือ ตรวจสอบได้ คิดเป็น 68.71%
2. ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า หรือ ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด คิดเป็น 68.05%
3. ไม่สามารถขับเคลื่อนงานหรือนโยบายได้สำเร็จตามเป้าหมาย คิดเป็น67.22%
4. เลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน ไม่ยุติธรรม คิดเป็น 67.07%
5. ยังไม่ส่งเสริมคนดีเป็นผู้นำและทีมงาน คิดเป็น 66.92%
ทั้งนี้ นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวถึงผลสำรวจดังกล่าวว่า
รัฐบาลและนายกฯ สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้ จำเป็นต้องแก้ไขและพัฒนาใน 4 ด้านหลัก คือ 1.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องประชาชน คือ โดยเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัย บริหารหนี้สาธารณะ หนี้เอกชน และหนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกให้ได้ รวมถึงลดการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามโควตาพรรคการเมือง แต่เป็นการคัดเลือกคนดีมีฝีมือที่มีความสามารถจริง แม้เป็นคนนอก เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
2.เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและใช้ทรัพยากรคุ้มค่า โดยจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณที่จำกัดได้มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มเม็ดเงินให้ภาคการผลิตที่สร้างมูลค่าจริง ไม่ใช่หว่านงบประมาณแบบไร้ทิศทาง และทบทวนโครงการประชานิยมที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริง
3.โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยปฏิรูประบบราชการให้ปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง สร้างกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ อุดช่องโหว่ระหว่างภาคการเมืองและราชการ ถ้ารัฐบาลต้องการความเชื่อมั่น ประชาชนต้องมั่นใจว่าเงินภาษีทุกบาทถูกใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เติมกระเป๋าของกลุ่มคนบางกลุ่ม
และ 4.สร้างความเป็นเอกภาพ หรือเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้ ประชาชนส่งเสียงดังฟังชัด ไม่พอใจรัฐบาลทั้งทีม โดยพรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจปัดความรับผิดชอบ ทุกพรรคต้องร่วมกันสร้างเอกภาพ ลดความขัดแย้งทางการเมือง และแสดงให้เห็นว่าการบริหารประเทศต้องมาก่อนเกมอำนาจ ต้องปรับวัฒนธรรมการเมืองให้สร้างสรรค์ หยุดแบ่งพวกแบ่งพรรคเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน