วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

หลังเหตุแผ่นดินไหว พบตึกอาคารหลายแห่งได้รับความเสียหาย เกิดรอยร้าว หากใครพบอาคารเสียหาย รีบแจ้งระบบ Traffy Fondue ทันที พร้อมเช็กข้อมูลรอยร้าวแบบไหนอันตรายที่สุด

ผ่านมาหลายชั่วโมงแล้วสำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในช่วงต้นปี 2568 เชื่อว่าหลายคนที่อพยพหนีจากตึกสูงยังคงขวัญเสียกันอยู่ สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันนี้ (28 มี.ค. 68) เป็นแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางเกิดขึ้นบริเวณใกล้เมืองมัณดาเลย์ ประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวดังกล่าว ได้ส่งผลมาถึง "ประเทศไทย" ด้วย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลายจุด 

แต่อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ชี้ว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวยังอาจสามารถก่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และเฝ้าระวังในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนพร้อมการแก้ไขพื้นที่ที่อาจยังมีอันตรายและมีผลกระทบต่อประชาชน 

หลังเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้ตึกอาคารที่อยู่อาศัยเสียหายตามมาด้วย มีอาคารหลายแห่งเกิดรอยร้าว รอยแตก ผนังผุร่อนออกมา หรือชำรุดทั้งภายนอกและภายในตัวอาคาร ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อเนื่องในช่วงนี้ได้ โดยเฉพาะหากเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกระลอก ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 15.35 น. ของวันนี้ มีการประกาศให้กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย โดยให้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้บัญชาการ สำหรับประชาชนพบอาคารเสียหาย มีรอยร้าว ส่งภาพแจ้งเข้ามาในระบบ Traffy Fondue หรือ โทร. 1555 ได้ทันที  

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

อัปเดตล่าสุด!! (29 มี.ค. 2025 เวลา 16:02 น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กทม. ได้ปรับระบบ Traffy Fondue เพื่อตอบสนองความกังวลได้ครอบคลุมมากขึ้น หลังพบมีการแจ้งเหตุรอยร้าวอาคาร เข้ามาต่อเนื่อง 5,500 เคส หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ขณะเดี่ยวกันก็มีการระดมวิศวกรอาสา 100 ชีวิตลงพื้นที่เร่งด่วน 

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้มีการตรวจอาคาร โดยเจ้าของอาคารที่สูงมากกว่า 8 ชั้น และเป็น 9 ประเภทที่ต้องมีการตรวจสอบประจําปีอยู่แล้ว ให้รีบไปตรวจสอบอีกครั้งหลังจากแผ่นดินไหวโดยเร็วที่สุด แล้วให้รายงานมาทุกวัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้วิศวกรอาสา (อ่านเพิ่ม : กทม.ปรับระบบ Traffy Fondue หลังเจอรอยร้าวอาคาร 5,500 เคส )

ในขณะที่มีข้อมูลจาก เพจ The Sales-Partan : หมอกิม โดย "หมอกิม น.สพ.ธีรพงษ์" ที่ได้แชร์ความรู้เกี่ยวกับการสังเกตรอยแตกรอยร้าวของอาคารบ้านเรือน ที่อาจพบเห็นได้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวไว้ด้วยว่า แบบไหนเป็นรอยร้าวที่ส่งสัญญาณบ่งบอกถึงความเสียหายและอันตรายที่ซ่อนอยู่บ้าง? ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินเบื้องต้นก่อนเรียกผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบได้

เช็ก 4 รอยร้าว-รอยแตก แบบไหนอันตราย จากมากไปน้อย?

1. รอยแตกเส้นผม (Hairline Cracks) - อันตรายต่ำ

รอยแตกประเภทนี้เป็นเพียงรอยเล็กๆ ที่มีความกว้างไม่เกินแผ่นบัตรเครดิตหรือเส้นผม มักเกิดจากการหดตัวของวัสดุก่อสร้าง ยังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง แต่ควรเฝ้าระวังและซ่อมแซมเมื่อมีโอกาส

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

2. รอยแตกแนวตั้ง (Vertical Cracks) - อันตรายต่ำถึงปานกลาง

รอยแตกแนวตั้งสามารถพบได้ตามกำแพง โดยมีลักษณะบางหรือหนา หากรอยแตกมีความกว้างเกิน 5 มิลลิเมตร ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของแรงกดทับที่ผิดปกติภายในโครงสร้างอาคาร

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

3. รอยแตกแนวนอน (Horizontal Cracks) - อันตรายสูง

รอยแตกแนวนอนที่พาดผ่านจากซ้ายไปขวาถือเป็นรอยแตกร้ายแรง ต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะอาจหมายถึงการเคลื่อนตัวของโครงสร้างหรือปัญหาฐานรากที่ส่งผลต่อความมั่นคงของอาคาร

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

4. รอยแตกเฉียง (Diagonal Cracks) - อันตรายที่สุด

รอยแตกชนิดนี้มักเกิดขึ้นในมุม 30 ถึง 70 องศา ซึ่งเป็นสัญญาณของโครงสร้างที่ได้รับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวหรือการทรุดตัวของดิน ต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เนื่องจากอาจส่งผลให้โครงสร้างอาคารพังถล่มได้

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

นอกจากการประเมินดูรอยแตกร้าวของอาคารบ้านเรือนแล้ว ก็ควรเช็กระบบท่อแก๊ส ท่อน้ำประปา และไฟฟ้า ในบ้านด้วย หากพบการชำรุดก็ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตรวจสอบแก้ไขทันทีเช่นกัน โดยสำหรับการตรวจสอบระบบท่อน้ำประปานั้น มีข้อมูลจาก การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แนะนำประชาชนว่า หลังแผ่นดินไหวควรตรวจสอบระบบประปาภายในบ้านทันที เพื่อป้องกันความเสียหายและอาจกระทบกับค่าน้ำประปาที่สูงเกินจริง

โดยทาง กปภ. แนะนำให้ประชาชนตรวจสอบความเสียหายของระบบประปาภายในบ้านทันที โดยการปิดก๊อกน้ำภายในบ้านทุกจุด และปิดวาล์วหน้ามาตรวัดน้ำให้สนิท จากนั้นสังเกตมาตรวัดน้ำหากยังหมุนอยู่ให้สันนิษฐานว่าอาจมีท่อแตกรั่วหรือมาตรวัดน้ำชำรุด และควรรีบซ่อมแซมระบบประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ทันที เพื่อป้องกันการเสียค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำที่สูงผิดปกติและลดการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์

ในกรณีที่เผชิญเหตุแผ่นดินไหวและจำเป็นต้องย้ายออกจากที่พักอาศัยชั่วคราวควรปิดประตูน้ำที่มาตรวัดน้ำทันที เพื่อป้องกันนำเอ่อท่วมภายในบ้านหากมีท่อน้ำชำรุด ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการน้ำประปาสามารถติดต่อ กปภ. สาขาใกล้บ้าน หรือโทร.  PWA Contact Center 1662 ตลอด 24 ชั่วโมง 

วิธีรับมือหลังแผ่นดินไหว เช็กรอยร้าวบ้าน-อาคาร แบบไหนอันตราย?

ส่วนวิธีรับมือหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวตามหลักสากลนั้น มีข้อมูลจาก Southern California Earthquake Center ระบุไว้ว่า ต้องตรสจสอบทั้งอาการบาดเจ็บของตนเอง เพื่อนและคนรอบข้าง สัตว์เลี้ยง รวมถึงตัวอาคารที่อยู่อาศัยและระบบต่างๆ ภายในบ้านเรือน ดังนี้ 

1. ตรวจสอบอาการบาดเจ็บ

• ตรวจสอบชุดปฐมพยาบาลที่มีในบ้าน หาข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับมาตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือโทรศัพท์หาเจ้าที่ผู้เชี่ยวชาญแล้วทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

• หากบาดเจ็บและมีเลือดออก ให้กดบริเวณแผลโดยตรง ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด หากพบมีผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ทำการช่วยหายใจด้วยการปั๊มหัวใจและช่วยหายใจ (CPR)

• ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส เว้นแต่จะตกอยู่ในอันตรายที่จะได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมทันที

• คลุมผู้บาดเจ็บด้วยผ้าห่มหรือเสื้อผ้าเพิ่มเติมเพื่อให้พวกเขาอบอุ่น

• รับความช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับการบาดเจ็บสาหัส

• ตรวจสอบเด็กหรือบุคคลอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอย่างระมัดระวัง

2. ตรวจสอบความเสียหายอาคารบ้านเรือน

• ตรวจสอบภายในและภายนอกบ้านว่ามีจุดไหนที่ประกายไฟหรือไม่? (อาจมีสายไฟขาดและไฟช็อต) หากพบว่ามี ให้ปิดระบบไฟทั้งหมดในบ้านทันที แล้วโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ต้องรอให้หน่วยดับเพลิงมาช่วย

• ป้องกันการรั่วไหลของก๊าซหุงต้ม โดยรีบปิดวาล์วก๊าซหลักทันที อย่าเปิดวาล์วอีกครั้งด้วยตัวเอง ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการรั่วไหลก่อน 

• หากพบสายไฟชำรุดปิดสวิตช์เบรกเกอร์หลัก หากสายไฟในบ้านได้รับความเสียหาย ให้ปิดไฟจนกว่าจะซ่อมแซมความเสียหายได้แล้วเสร็จ อีกทั้งหากพบหลอดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด ควรถอดปลั๊กออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้เมื่อไฟฟ้ากลับมาใช้ได้อีกครั้ง

• อาจพบสิ่งของร่วงหล่นจากชั้นวาง ให้ระวังสิ่งของที่หล่นจากชั้นวางเมื่อคุณเปิดตู้เสื้อผ้าหรือประตูตู้เก็บของ

• หากพบของเหลวหรือน้ำยาต่างๆ หกเลอะเทอะ เช่น น้ำยาฟอกขาว โซดาไฟ สารเคมีในสวน น้ำมันเบนซิน หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ ควรแยกไว้หรือคลุมด้วยวัสดุดูดซับ เช่น ดินหรือทรายแมว หากไม่แน่ใจ ให้ออกจากบ้าน

• อย่าเข้าใกล้ปล่องไฟ ผนังที่ทำด้วยอิฐหรือบล็อก และกระจก เพราะโครงสร้างเหล่านี้อาจอ่อนแอลงและพังทลายลงมาได้เมื่อเกิดอาฟเตอร์ช็อก