สทนช. ยืนยันแผ่นดินไหว ไม่กระทบโครงสร้างอาคารใหม่ ไร้แตกร้าว

สทนช. ยืนยันแผ่นดินไหวไม่กระทบอาคารที่ทำการใหม่ ผลตรวจสอบโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย ไร้รอยแตกร้าว ระดมผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบซ้ำ รู้ผลภายใน 15 วัน
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. และประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (อาคาร สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงของการก่อสร้างอาคารที่ทำการถาวรหลังจากการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง และการใช้งานอาคารในอนาคต ณ อาคารที่ทำการ สทนช. ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
โดยนายไพฑูรย์ ให้สัมภาษณ์ ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สทนช.พร้อมด้วยผู้ออกแบบอาคารที่ทำการ สทนช.ที่ปรึกษาควบคุมงาน และผู้รับจ้าง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงของการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สทนช.แห่งใหม่ ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างทันทีถึง 2 ครั้ง พร้อมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับทีมงานที่ปรึกษา และกิจการร่วมการค้าเอ็นซีอาร์อีซี
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ สภาพอาคารที่ทำการ สทนช.ในครั้งนี้ ได้มีการประเมินตามหลักการตรวจสอบภายนอก Visual check ไม่พบว่า อาคารมีรอยร้าว หรือส่วนประกอบอื่นเกิดความเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งการออกแบบอาคารที่ทำการ สทนช.เป็นไปตามมาตรฐานของการก่อสร้างอาคารสูงทุกประการ
โดยตระหนักถึงความถูกต้อง มั่นคง และปลอดภัยในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง ที่ยึดหลักกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างการก่อสร้างที่ผ่านมา สทนช.ได้ติดตามตรวจสอบการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน และขอบเขตข้อกำหนดของงานอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพื่อให้ได้อาคารที่ได้มาตรฐาน มีความมั่นคง แข็งแรง ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ สทนช.ในการปฏิบัติหน้าที่บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561
อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอาคาร ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหว สทนช.ได้มีการสั่งหยุดงานชั่วคราว และได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน ประสานผู้มีใบอนุญาตตรวจสอบความมั่นคง และปลอดภัยของอาคารอย่างละเอียดอีกครั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568
โดยหลังการตรวจสอบจากผู้มีใบอนุญาต ยืนยันถึงความปลอดภัยแล้ว จึงจะให้คนงานเข้าดำเนินการก่อสร้างได้ พร้อมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
สำหรับอาคารที่ทำการ สทนช. ดำเนินการก่อสร้างโดย กิจการร่วมการค้า เอ็นซีอาร์อีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัทเนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR ถือหุ้น 51% และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CREC ถือหุ้น 49% ซึ่งชนะการประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ด้วยราคา 716.45 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 16 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น
โดยมีกิจการค้าร่วมบริษัท ทรานส์ เอเซีย คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างและรับรองการทดสอบคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างทุกรายการ เริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2562 มีระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (540 วัน) แต่ได้มีการขยายระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้วประมาณ 99% คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปีงบประมาณ 2569
โฆษก สทนช.ระบุว่า อาคารที่ทำการ สทนช.สร้างบนเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานในพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน โดย สทนช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญได้ออกแบบให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ถึง 3 เท่าของแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ เป็นหลักฐานยืนยันถึงความปลอดภัยที่ได้ออกแบบรองรับไว้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เลือกใช้กระจกชนิดที่มีค่าการส่งผ่านความร้อนต่ำ (U-value) เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่ตัวอาคาร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศได้เป็นจำนวนมาก
อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกระจก ยังไม่ทำให้เกิดการสะท้อนความร้อนไปรบกวนพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย พร้อมกับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว
"สทนช. ยังได้พิจารณาคัดเลือกโครงการนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ของกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และเป็นอาคารเขียวตามมาตรฐาน Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction (TREE-NC) ของสถาบันอาคารเขียวไทย ให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้องค์ประกอบ สถานที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่งสะดวก และมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของอาคาร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรอีกด้วย" รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว