สภาวิศวะชี้'ไร้เสาค้ำยัน' สาเหตุคอนโด6ชั้นถล่ม

สภาวิศวะชี้'ไร้เสาค้ำยัน' สาเหตุคอนโด6ชั้นถล่ม

สภาวิศวกรชี้ก่อสร้างแบบ "ไร้การค้ำยันเสา" สาเหตุหลักทำคอนโดย่านคลองหกถล่ม

เผยการก่อสร้างลักษณะนี้เป็นที่นิยมเพราะช่วยลดต้นทุน สร้างเสร็จเร็ว เพิ่มจำนวนชั้น รวมทั้งเลี่ยงอีไอเอ ด้านนายกสภาวิศวกรคาดไต่สวนวิศวกรคุมงานเสร็จใน 2 สัปดาห์ก่อนส่งคณะจรรยาบรรณชี้ขาดอีกครั้ง เลขาสภาวิศวกรปูดมีการแอบอ้างชื่อวิศวกรคุมงานอื้อ คนตายก็ไม่เว้น ขณะที่ "ชลอ เกิดเทศ" มอบเงินช่วยคนงานผ่านผู้ว่าฯปทุมธานี

นายอมร พิมานมาศ รองเลขาธิการสภาวิศวกร อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) ถึงสาเหตุเบื้องต้นเท่าที่สภาวิศวกรเข้าไปตรวจสอบสถานที่การถล่มของอาคารคอนโดมิเนียม 6 ชั้น ใน จ.ปทุมธานี ว่า ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นพบความผิดปกติภายในตัวอาคารซึ่งเป็นสาเหตุของพังทลายนั้นเกิดขึ้นจากการออกแบบและการก่อสร้าง เนื่องมาจากแบบที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นแบบที่ไร้การค้ำยันบริเวณเสา

นายอมร กล่าวว่า แบบก่อสร้างแบบนี้เป็นแบบสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมมากเพราะช่วยลดต้นทุน ก่อสร้างได้รวดเร็ว และทำให้จำนวนความกว้างของแต่ละชั้นลดลง เพิ่มจำนวนชั้นมากขึ้น โดยมีการใช้สลิงค์เป็นตัวขึงและค้ำยันผนัง แทนการค้ำยันเสา

"แบบดังกล่าวถือว่ามีความอ่อนแอ จำเป็นต้องใช้วิศวกรและขั้นตอนการควบคุม มีการออกแบบปลอดภัย ขั้นตอนการควบคุมงานก่อสร้างที่รัดกุม" นายอมร กล่าว

เลี่ยงทำรายงานอีไอเอ

เขาอธิบายต่อว่า สาเหตุที่รูปแบบการก่อสร้างที่ไร้เสาค้ำยันนั้นได้รับความนิยมอีกประการคือ ช่วยในหลีกเลี่ยงข้อกำหนดที่ให้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสูง 23 เมตรขึ้นไป จะต้องทำรายงานติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทำให้โครงการในปัจจุบันไม่นิยมสร้างตึกสูงมากนักแต่เน้นที่จำนวนชั้นมาก โดยการก่อสร้างแบบไร้คานที่ช่วยสร้างห้องที่ความสูงไม่มากเพื่อเพิ่มจำนวนชั้นมากขึ้น

ชี้คุมก่อสร้างแบบนี้ต้องรัดกุม-ชำนาญ

ทั้งนี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันที่ใช้รูปแบบที่ไร้เสาค้ำยันถือว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมและที่พักอาศัย รวมถึงหอพักในปัจจุบันนิยมสร้างแบบนี้จำนวนมาก เพราะมีความรวดเร็ว แต่ค่อนข้างเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบถล่มในลักษณะเดียวกันกับอาคารที่ จ.ปทุมธานี หากการควบคุมดูแลไม่รัดกุม ขาดความชำนาญในการก่อสร้างด้วยระบบพื้นไร้คานชนิดอัดแรงทีหลัง ทั้งที่ในการออกแบบที่ถูกต้องสำหรับพื้นไร้คานจะต้องไม่บางเกินไป พร้อมกับมีการเสริมเหล็กหิ้วในพื้นที่ แบบวิ่งผ่านแกนเสาทั้งสองทิศทาง รวมทั้งเสริมเหล็กปลอกในพื้นผ่านแกนเสา

“การพังลงมาของอาคาร 6 ชั้นที่รังสิต เป็นการพังทลายหรือวิบัติแบบ Pancake Collape คือเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งของอาคารแล้วลามไปทั่วอาคาร หรือเป็นโดมิโนจนพังทั้งหลัง" นายอมร กล่าว

เขาบอกว่า ข้อสันนิษฐานว่าการก่อสร้างโครงสร้างการค้ำยันที่อ่อนแอ ก่อสร้างด้วยระบบพื้นไร้คานชนิดอัดแรงทีหลังหรือพื้นโพสต์ ซึ่งมีการเสริมลวดอัดแรงเพื่อเพิ่มกำลังรับน้ำหนักของพื้น ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันกับหลายโครงการ เพราะใช้เวลาสร้างเสร็จเร็ว เพราะไม่มีคานค้ำยัน แต่มีความอ่อนแอและเสี่ยงสูงในการถล่ม

หากไม่มีการค้ำยันที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีแนวทางการออกแบบและก่อสร้างที่ถูกต้อง ซึ่งตึกที่ถล่มถือว่าอ่อนแอมาก เนื่องจากคอนกรีตยังไม่ได้อายุและการก่อสร้างส่วนต่างๆ ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

5สาเหตุทำตึกถล่ม

เขากล่าวถึงสาเหตุหลักของการที่ทำให้ตึกถล่มว่ามีด้วยกัน 5 สาเหตุ คือ 1.ขั้นตอนการก่อสร้างไม่ถูกต้องหรือไม่มีแผนการก่อสร้าง เช่น การใช้ค้ำยันไม่เพียงพอ หรือไม่ถูกต้อง หรืออาจจะค้ำยันเร็วเกินไปขณะที่พื้นคอนกรีตยังไม่แข็งตัวพอ

หรือการเทคอนกรีตกองที่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไปจนเพิ่มน้ำหนักที่บริเวณนั้นมากผิดปกติ หรืออาจจะเกิดจากไม่ดึงลวดอัดแรงในพื้นชั้นล่างก่อน ที่จะทำการค้ำยันเพื่อรองรับน้ำหนักพื้นที่กำลังก่อสร้าง ทำให้พื้นชั้นล่างไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับน้ำหนักพื้นที่กำลังเทคอนกรีตอยู่

2.การเร่งรีบในการก่อสร้างจนเป็นสาเหตุทำให้พื้นคอนกรีตชั้นล่างยังไม่ได้อายุ จึงยังไม่มีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอ แต่กลับเร่งรีบก่อสร้างพื้นในชั้นถัดไป เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้น ทั้งที่พื้นคอนกรีตในพื้นชั้นล่างยังไม่แข็งแรงเพียงพอในการรับน้ำหนักของพื้นชั้นบนได้ เป็นสาเหตุให้พื้นถล่ม

3.อาจจะเกิดจากการออกแบบผิดพลาด เช่น การเสริมเหล็กที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เพียงพอ เช่น การเสริมเหล็กระหว่างพื้นและเสา หรือระหว่างพื้นและกำแพงปล่องลิฟต์

หากทำไม่ถูกต้องเพียงพอ ก็อาจจะทำให้โครงสร้างปราศจากการยึดรั้งระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ จนเป็นเหตุให้ชิ้นส่วนต่างๆ หลุดแยกจากกัน

4.การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น คอนกรีตกำลังต่ำเหล็กเสริมหรือลวดอัดแรงที่ด้อยคุณภาพ และ 5.ฐานรากวิบัติเกิดเสาเข็มหัก หรือเสาเข็มหนีศูนย์ ที่ต้องรอให้จัดการเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างเสร็จจึงจะเข้าไปตรวจสอบได้

ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่มีความสูง 3 ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างมีความสูงตั้งแต่ 4 เมตร หรืออาคารที่มีช่วงคานตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป จึงเข้าข่ายงานวิศวกรรมควบคุม ตั้งแต่การออกแบบและก่อสร้างสร้าง โดยวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขาวิศวกรรมโยธาสามัญขึ้นไปสำหรับผู้ออกแบบ และผู้ทำการควบคุมก่อสร้างจะต้องเป็นวิศวกรระดับภาคีโยธาขึ้นไป

พร้อมทั้งจะต้องมีวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างประจำอยู่ ณ สถานที่ก่อสร้างตลอดเวลา ตามกฎกระทรวงกำหนดในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ.2550

ทั้งนี้วิธีการเข้าสอบไต่สวนวิศวกร นั้นจะต้องพิจารณาในด้านกระบวนการออกแบบและการควบคุมงานก่อสร้างเป็นหลักว่าเกิดจากการออกแบบที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นขาดการค้ำพื้นคอนกรีตบริเวณเสา หรือ เกิดขึ้นในกระบวนการก่อสร้างที่ผู้คุมงานไม่ปฏิบัติตามออกแบบก่อสร้าง

ทั้งนี้ความถี่ของการเกิดภัยวิบัตินั้นมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทางสภาวิศวกรและผู้เกี่ยวข้อง ต้องตื่นตัวในการตรวจสอบโครงการสร้างฐานรากที่แข็งแรงและได้รับมาตรฐานเพื่อป้องกันการเสริมฐานรากและเสาค้ำยันที่แข็งแกร่งในพื้นที่ก่อสร้างหลายแห่ง

คาดไต่สวนวิศวกรคุมงานเสร็จใน2สัปดาห์

ด้าน นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นทางสภาฯ ก็มีการส่งหนังสือเพื่อขอหลักฐานวิศวกรผู้คุมงานที่ชัดเจนจากองค์กรปกครองท้องถิ่น พร้อมกันกับตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ก่อนทำความเห็นไปเสนอคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดและแจ้งผลการพิจารณาถึงผู้เกี่ยวข้อง

"ในระหว่างนี้จะเพิกถอนใบอนุญาตเลยไม่ได้ แม้มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เพราะดูตามกระบวนการและหลักฐานตามสื่อไม่ได้ต้องดูจากหลักฐานในเชิงวิชาการว่ามีวิศวกรสองคนดังกล่าวมีชื่อในการเป็นผู้ควบคุมงานจริงๆ พร้อมกับเปิดโอกาสให้วิศวกรควบคุมงานเข้ามาชี้แจง" นายกมล กล่าว

อย่างไรก็ตามหน้าที่ของวิศวกรนั้นจะต้องควบคุมงานตลอดเวลา ในทุกขั้นตอนเพื่อให้โครงการสำเร็จตามแบบ และจะไม่ทิ้งประเด็นในการเข้าไปตรวจสอบวิศวกรผู้ออกแบบที่มีความผิดตั้งแต่การออกแบบหรือไม่

เผยแอบอ้างชื่อวิศวกรคุมงานอื้อ

ส่วน นายเกชา ธีระโกเมน เลขาธิการสภาวิศวกร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีพบว่ามีการร้องเรียนของการแอบอ้างชื่อวิศวกรควบคุมงานนำไปติดป้ายเป็นผู้ควบคุมงานจำนวนมาก ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ

"บางรายเป็นวิศวกรที่เสียชีวิตที่ถูกแอบอ้างชื่อ" นายเกชา กล่าว และว่าปัญหาดังกล่าวก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลทำให้โครงการก่อสร้างขาดประสิทธิภาพ เสี่ยงต่อการถล่ม เพราะไม่มีผู้ควบคุมงานที่ได้รับมาตรฐานเข้ามาควบคุมงานอย่างชัดเจน

"ชลอ"รุดพบผู้ว่าฯมอบเงินช่วยคนงาน

ส่วนความคืบหน้าในการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาคารก่อสร้างถล่มนั้น วานนี้ (18 ส.ค.) นายชลอ เกิดเทศ บิดาของนายชานัยชนม์ เกิดเทศ เจ้าของบริษัท ปลูกแปลง จำกัด เจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่เกิดเหตุนั้น ยูเพลสคอนโดเทล พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ไหลสกุล ทนายความบริษัท เข้าพบนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เพื่อมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่คนงานที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 10,000 บาท ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการ จะได้รับรายละ 7,000 บาท ผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 205,000 บาท

นายชลอ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อบุตรชายได้แต่จะพยายามติดต่อให้เข้ามอบตัวให้ได้ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้มีรายงานว่า นายชานัยชนม์เคยมีหมายจับในท้องที่ สภ.เมืองนนทบุรี จำนวน 2 คดี คือ หมายจับคดีที่ 214 /56 และหมายจับคดีเลขที่ 405/56 ในคดีเช็ค