ชงงบ170ล.สร้างเขื่อนหิน แก้ปัญหาน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง

ชงงบ170ล.สร้างเขื่อนหิน แก้ปัญหาน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง

ระนองจับมือกรมเจ้าท่า เร่งแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ชงของบประมาณ170 ล้าน สร้างเขื่อนหินกันคลื่นหลังผลศึกษาชี้เหมาะสม

นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากการที่ทางกรมเจ้าท่าได้เข้ามาทำการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแนวชายฝั่งบริเวณบ้านอ่าวเคย ม. 4 ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนองที่พบว่ามีความรุนแรงมากเนื่องจากสภาพพื้นที่ถูกกระแสน้ำทะเลที่แปรปรวนพัดกัดเซาะกลืนพื้นที่ชายฝั่งจมหายลงทะเลแล้วหลายไร่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของชาวบ้านทั้งสวนมะพร้าว,บ้านเรือนชาวบ้าน


ล่าสุดทางจังหวัดได้รับแจ้งจากกรมเจ้าท่าว่าจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทางกรมเจ้าท่าเห็นสมควรที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทางกรมเจ้าท่าจึงได้จ้างที่ปรึกษา ที่มีความชำนาญในด้านวิศวกรรมชายฝั่ง (CoastalEngineering)ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณอ่าวเคย ม. 4ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ครอบคลุมระยะทางประมาณ 4 กม.


นายสุริยันต์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากคลื่นบริเวณพื้นที่โครงการมีความรุนแรงมาก โครงสร้างที่จะนำมาใช้จะต้องสามารถสลายพลังงานคลื่นได้ดี และต้องมีรูพรุนหรือโพรง ดังนั้นโครงสร้างที่จะใช้ในการป้องกันชายฝั่งควรก่อสร้างด้วยหินขนาดใหญ่ และจากการสำรวจชั้นดินพบว่าชั้นดินในบริเวณพื้นที่โครงการเป็นชั้นทรายแน่นที่มีความแข็งแรงสูงจึงสามารถรองรับน้ำหนักของโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ได้ โดยขณะนี้มีรูปแบบเขื่อนหินที่จะดำเนินการในสองรูปแบบ รูปแบบแรก สร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งยาว 900 ม.ยื่นโค้งออกจากอ่าวเคยและรูปแบบที่สอง สร้างเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งยาว 300 ม. ยื่นตั้งฉากกับอ่าวเคย ซึ่งจะต้องมีการนำรายละเอียดทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบเพื่อร่วมประชาพิจารณ์โครงการอีกครั้งก่อนดำเนินการ


นายปรีชา ปินัง กำนัน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง กล่าวว่า บ้านของตนเองเป็นบ้านสุดท้ายที่ยังอาศัยอยู่ที่อ่าวเคยบริเวณริมชายหาด และกำลังเตรียมจะย้ายออกจากพื้นที่ขึ้นไปสร้างบ้านใหม่บนที่สูงด้านข้างภูเขาแทนเนื่องจากบริเวณที่ตนอยู่อาศัยไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อหลังหลังเกิดน้ำทะเลกัดเซาะพัดกลืนชายหาดเข้ามาหลายร้อยเมตร ทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือได้ย้ายไปก่อนหน้า รวมทั้งสวนมะพร้าวกว่า30ไร่ที่ปัจจุบันกลายเป็นทะเลหมดแล้ว


นายปรีชา กล่าวว่า กระแสคลื่นลมที่รุนแรงได้กัดเซาะให้ชายฝั่งกินลึกเข้ามาในพื้นที่ชาวบ้านอาศัย และทำกิน แล้วกว่า 800 ม. จากแนวเดิมในช่วงระยะเวลาเพียงปีเศษซึ่งพิสูจน์ได้จากซากต้นไม้ และตอไม้ที่จมอยู่กลางทะเลเป็นจำนวนมาก ทางชาวบ้านจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่ชาวบ้านในระแวกดังกล่าวซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 20 ครัวเรือนจะต้องย้ายหนีออกจากพื้นที่ อันเป็นผลจากการกัดเซาะที่กินลึกเข้ามาของน้ำทะเลจนไม่สามารถที่จะอยู่อาศัยอีกต่อไปได้ รวมถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกว่า 300 ลำที่เคยอาศัยเป็นที่พักเรือประมงในบริเวณอ่าวดังกล่าวต้องย้ายหนีไปหาจุดพักยังพื้นที่อื่น


“ในช่วงแรกชาวบ้านคิดว่าเป็นเหตุการณ์ปกติของพื้นที่ชายฝั่ง แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้พบว่าไม่ปกติ เนื่องจากการกัดเซาะเกิดขึ้นเร็วมาก ตนซึ่งสร้างบ้านอยู่บ้านเลขที่ 12/3ม.4บ้านอ่าวเคย ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในแนวที่เกิดการกัดเซาะพบว่าเดิมที่ดินของตนมีมากกว่า 5 ไร่ ตลอดแนวชายหาดแต่ขณะนี้กลายเป็นทะเลไปแล้วกว่า 2 ไร่ ที่เหลืออีก 3 ไร่กำลังถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยตัวบ้านซึ่งเคยตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งมากถึง 500 ม. แต่ขณะนี้พบว่าเหลือเพียง 200 ม.ก็จะถึงบ้านตนแล้ว ส่วนบ้านของชาวบ้าน 2-3 หลังที่ตั้งอยู่ริมทะเลได้ถูกกัดเซาะจมหายไปในทะเลหมดแล้ว รวมถึงต้นไม้ ต้นมะพร้าวจำนวนมากที่หักโค่นอันเป็นผลจากดินที่ถูกน้ำพัดกัดเซาะเข้ามา”

ภาพ-pr.prd.go.th