'ส.แบดมินตัน' รวมหลักฐานสู้เพื่อ 'น้องเมย์'
"สมาคมกีฬาแบดมินตัน" รวบรวมหลักฐาน เพื่อโต้แย้งองค์กรต่างๆ หาก "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ นักแบดสาวไทย ถูกกล่าวหาว่าใช้สารต้องห้ามจริง
ข่าวช็อกวงการกีฬาไทยครั้งใหญ่อีกหน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีกระแสข่าวว่า สหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิลยูเอฟ) ได้ส่งหนังสือแจ้งมายังสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ว่ามีนักตบลูกขนไก่ไทยไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้น ในผลการตรวจครั้งแรก หรือ แซมเปิ้ล เอ ในการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมชิงแชมป์โลก “โธมัสคัพและอูเบอร์คัพ” ที่เมืองคุนชาน ประเทจีน ระหว่างวันที่ 15-22 พ.ค. ซึ่งต่อมาเกิดข่าวลืออย่างหนักว่า นักกีฬารายดังกล่าวคือ “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ มืออันดับ 4 ของโลก ที่สร้างความฮือฮาในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยการคว้าแชมป์การแข่งขันระดับซูเปอร์ซีรีส์ 3 รายการซ้อน คือ อินเดีย โอเพ่น, มาเลเซีย โอเพ่น และสิงคโปร์ โอเพ่น จนทำให้อันดับขึ้นสูงไปถึงมือ 1 ของโลกมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามเรื่องนี้ไปยัง ร.ร.สอนแบดมินตันบ้านทองหยอด ซึ่งเป็นต้นสังกัดของน้องเมย์ โดย “แม่ปุก” นางกมลา ทองกร ผู้อำนวยการ และ “น้องมุก” น.ส.คณิศรา เงินศรีสุข ผู้จัดการ ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในดังกล่าว
ขณะที่ นางณหทัย ศรประชุม เลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตัน กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อโต้แย้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก (วาดา) และบีดับเบิลยูเอฟ โดยจะตั้งทนายขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากพบว่านักกีฬาใช้สารโด๊ปจริง ก็พยายามที่จะผ่อนหนักเป็นเบาให้ได้
ส่วน นายธนัช อัศวนภากาศ รองเลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตัน กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานดังกล่าว และน้องเมย์ยังคงเก็บตัวฝึกซ้อมตามปกติเพื่อเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล โดยเก็บตัวฝึกซ้อมอยู่ที่กิเลนวัลเลย์ จ.นครราชสีมา และไม่มีการแจ้งเรื่องสารกระตุ้นตามที่เป็นข่าว
“โดยปกติแล้วในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ จะมีการสุ่มตรวจสารกระตุ้นในนักกีฬาแต่ละคนอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้น้องเมย์ก็เคยถูกสุ่มตรวจและไม่พบความผิดปกติ สามารถแข่งขันได้ปกติ” นายธนัช กล่าว
ด้าน “บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีนี้ต้องรอผลการยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งทำให้น้องเมย์ยังเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยชุดที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล จนกว่าจะมีผลการตัดสินเป็นอื่น หากพบว่านักกีฬาพบการใช้สารต้องห้าม และมีการลงโทษห้ามแข่งขัน ก็ต้องตัดชื่อออกเป็นธรรมดา แต่การห้ามเดินทางไปแข่งขัน ยังดีกว่าไปแข่งขันและได้เหรียญกลับมาแล้วถูกลงโทษภายหลัง ซึ่งจะต้องภาวนาไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนั้น
ขณะที่ “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องรอคำยืนยันจากสหพันธ์แบดมินตันโลกที่ชัดเจนอีกครั้ง ต้องรอผลการตรวจที่แน่นอน จึงขอให้นักกีฬาทีมชาติไทยที่ได้โควตาไปโอลิมปิกทำหน้าที่ฝึกซ้อมตามปกติมีสมาธิในการฝึกซ้อม ต้องให้กำลังใจนักกีฬาต่อไป ข่าวที่ออกมาต้องรอการตรวจสอบอีกครั้ง
“บิ๊กต้อม” กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมแผนสำรองอะไรไว้ ซึ่งต้องยอมรับว่า รัชนกคือนักกีฬาความหวังคนหนึ่งของไทย กรณีที่แย่ที่สุดที่เป็นไปได้ คือการถูกตัดออกจากทีมชาติ ซึ่งคงต้องรอการชี้แจงจากสมาคมแบดมินตัน และทางบ้านทองหยอด ที่กำลังยื่นคำชี้แจงว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ
“คาดว่าตัวยาที่ถูกตรวจพบนั้นอาจเป็นสเตียรอยด์ ที่น้องเมย์รับการรักษาก่อนเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศจีน ซึ่งแพทย์ของทีมเป็นคนฉีดให้ แต่เป็นแพทย์รักษาอาการหัวเข่า ไม่ใช่แพทย์ด้านการกีฬา โดยก่อนฉีดยานั้น น้องเมย์ค่อนข้างกังวลกับการรักษา และพยายามสอบถามแพทย์ว่าสามารถฉีดได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งแพทย์ระบุว่าไม่มีปัญหา กระทั่งท้ายที่สุดก็มีข่าวว่า อยู่ในกระบวนการตรวจสารกระตุ้นไปแล้ว”
น.พ.มีชัย อินวู๊ด ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์กีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการเตรียมนักกีฬาไทย เปิดเผยว่า ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กกท.ได้ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬาไทยชุดโอลิมปิกเกมส์ รวม 52 คน ปรากฏว่าไม่พบการใช้สารต้องห้ามแต่อย่างใด กรณีของน้องเมย์นั้น ตามกระบวนการแล้ว หากตรวจพบสารต้องแจ้งไปที่ตัวนักกีฬา และสมาคมกีฬานั้นๆ ก่อนที่จะแจ้งกลับมาที่ กกท. ซึ่งต้องรอผลอย่างเป็นทางการ ในขณะนี้นักกีฬายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จะกล่าวหาว่าใช้สารต้องห้ามไม่ได้ ต้องรอการยืนยันจากสหพันธ์แบดมินตันโลกอีกครั้ง
สำหรับเรื่องของการใช้สารต้องห้ามนั้น น้องเมย์อาจจะใช้ยาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า โดย นพ.มีชัย กล่าวว่า ยารักษาต่างๆ มีตัวยาบางส่วนที่อาจจะเป็นสารต้องห้าม ซึ่งนักกีฬาจะต้องมีความระมัดระวัง และปรึกษากับหมออย่างใกล้ชิด โดยกรณีของนักกีฬาระดับโลก อย่าง ลี ชอง เหว่ย นักแบดมินตัน ซึ่งเคยมีดีกรีเป็นมือ 1 ของโลก ชาวมาเลเซีย ก็เคยถูกตรวจพบการใช้สารต้องห้าม ประเภทยาบำรุง ถูกลงโทษห้ามแข่งขัน 8 เดือน หากเป็นตัวยาที่แรงกว่านั้น อย่างสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลัก ก็อาจจะถูกลงโทษ 2-4 ปี
ด้าน นายสุรศักดิ์ ส่งวรกุลพันธุ์ อดีตเลขาธิการสมาคมแบดมินตัน กล่าวว่า โดยปกติแล้วหลังการแข่งขัน ทางบีดับเบิลยูเอฟ จะมีเอกสาร “พีอียู” หรือการสำแดงการใช้ตัวยาต่างๆ ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนที่ผ่านมา ที่สุ่มเสี่ยงมีสารต้องห้ามปนอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่แน่ใจว่า หลังการแข่งขันนัดที่มข่าวว่าทีมไทยถูกสุ่มตรวจสารกระตุ้นกันแบบยกทีมนั้น ได้มีการกรอกแบบฟอร์มนี้เพื่อชี้แจง เป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไปนั้น จะมีการนำกลุ่มตัวอย่างไปตรวจซ้ำ หรือ แซมเปิ้ล บี ที่แลปในประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะมีการแจ้งผลไปยังบีดับเบิลยูเอฟ ที่จะส่งผลยืนยันครั้งสุดท้ายมายังสมาคมแบดมินตันไทยต่อไป