The Inside Line : กีฬาที่ไม่มีใครดู?

ถึงจะมีคนปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ แข่งขันมากขึ้นทุกปีทั่วโลก แต่เชื่อไหมครับว่าการแข่งขันจักรยานระดับอาชีพ เป็นกีฬาที่มีผู้ชมน้อยมาก
ผู้จัดรายการใหญ่อย่าง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ อาจเคลมว่าเป็นรายการกีฬาที่มีคนชมมากที่สุดในโลก แต่พ้นจาก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ไปแล้ว แทบไม่มีใครรู้จักหรือเข้าใจการแข่งจักรยานอาชีพ
วันนี้ The Inside Line อยากจะลองทำความเข้าใจว่าทำไมมันถึงไม่เป็นที่นิยม และเราจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง?
ปัญหาแรก คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันจักรยานแพงมากครับ แพงที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะการแข่งจักรยานเป็นการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติ แต่ละสเตจมีเส้นทางเฉลี่ย 150–200 กิโลเมตร ยกตัวอย่าง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ แข่งกันทั้งหมด 21 สเตจ (23 วันติดต่อกัน) ทั่วประเทศ ระบบการถ่ายทอดสดก็ต้องซับซ้อนและมีราคาสูงเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นขบวนมอเตอร์ไซค์ เฮลิคอปเตอร์ รถบัส รถเทรลเลอร์ที่ขนเครื่องรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม กล้องถ่ายทอดสดความคมชัดสูง รวมๆแล้วการถ่ายทอดสดแต่ละวัน ต้องใช้เงินแตะหลักสิบล้านบาท
มันไม่ใช่ปัญหาสำหรับรายการระดับแกรนด์ ทัวร์ ก็จริง แต่สำหรับรายการเล็กๆ ที่ไม่มีสปอนเซอร์ การถ่ายทอดสดให้น่าติดตามเป็นไปได้ยาก
ตามเรตติ้งของบริษัทนีลเซน สัดส่วนผู้ชมรายการแข่งจักรยานต่อประชากรในสหรัฐอยู่ที่ 0.1 หมายความว่าประชากรสามร้อยล้านคน มีผู้ชมจักรยานแข่งขันรายการที่ดังที่สุดในโลกแค่แสนคนต่อวันเท่านั้น รายการอื่นๆแทบไม่ต้องพูดถึง เมื่อไม่มีผู้ชม ก็ไม่คุ้มสำหรับผู้จัดที่จะต้องจ้างทีมและอุปกรณ์ถ่ายทอดสดราคาแพง เมื่อไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ ก็ไม่มีรายการให้ผู้ชมได้ดู
นอกจากนี้ ว่ากันตามตรง การแข่งจักรยานค่อนข้างน่าเบื่อครับ เรตติ้งรายการโปรทัวร์ตกลงต่อเนื่องทุกปี โปรแกรมยาว 2–3 ชั่วโมง ก็เป็นการปั่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเส้นชัย แอคชันหลักๆที่จะฟาดฟันกันอยู่ที่ 30 นาทีสุดท้าย ที่เหลือก็นั่งชมโปรปั่นกันเป็นกลุ่ม นานๆทีจะมีผู้กล้าลองชิงทำเกมหนีกลุ่มบ้าง แต่ไม่ค่อยสำเร็จ ผิดกับกีฬาในสนามที่มีการตอบโต้ระหว่างผู้เข้าแข่งขันตลอดเวลา รายการถ่ายทอดสดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ช่วงเวลาดีๆ ด้วยเพราะกีฬาประเภทอื่นมีทุนมากกว่าและเรตติ้งดีกว่า
ด้วยความที่เป็นกีฬาเฉพาะกลุ่ม โมเดลธุรกิจในการเผยแพร่สัญญาณจึงไม่ยั่งยืน หากไม่ได้อยู่ในประเทศที่อินกับกีฬานี้ ก็แทบไม่มีช่องท้องถิ่นซื้อลิขสิทธิ์มาให้ชมกัน แต่อาจจะเป็นโอกาสดีก็ได้ครับ ถ้าผู้จัดหันไปทดลองรูปแบบ Video on Demand หันไป “ขายตรง” สัญญาณถ่ายทอดสดถึงผู้บริโภคที่ต้องการชมจริงๆแบบออนไลน์ ในลักษณะเดียวกับบริการของ Netflix และ Amazon Prime แทน
วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องไปแย่งเวลา prime time กับรายการอื่นๆ เอาเงินตรงนั้นไปพัฒนารูปแบบให้น่าสนใจกว่าเดิม ด้วยฟีเจอร์อย่าง Instant replay, ไฮไลท์แต่ละสนาม และระบบเลือกชมย้อนหลังทุกสนาม
สปอนเซอร์ก็เข้ามาสนับสนุนแพลทฟอร์มที่ถ่ายทอดได้โดยตรง ไม่ต้องซื้อโฆษณาผ่านช่องทีวีที่มีราคาสูง แถมยังได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรงเป้าด้วย เป็นการตัดปัญหาการเผยแพร่สัญญาณ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับแฟนจักรยานในหลายๆ ประเทศ
แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสด ก็อาจจะยังสูงตามธรรมชาติของการแข่งสนามเปิดระยะไกล แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ในอนาคต หากมีผู้ชมมากขึ้นและพร้อมจ่ายค่าบริการในราคาที่ไม่สูงมากต่อเดือน (เหมือนที่เราจ่ายค่าบริการเคเบิลทีวีหรือ Netflix) ก็อาจจะช่วยให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ ไม่ต้องพึ่งพาช่องทีวีอีกต่อไป
แพลตฟอร์มดังกล่าวอาจจะพัฒนาส่วนที่เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับแฟนจักรยาน ใช้เช็คสถิติ ประวัติ และข่าวสาร บทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ของนักปั่นและทีมที่ตัวเองชื่นชอบได้ทั้งหมดจากเว็บไซต์เดียว
ผมเชื่อว่ายังมีแฟนกีฬาหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึงเสน่ห์ของจักรยานอาชีพ แต่ถ้าเราได้แพลตฟอร์มดังกล่าวมาช่วย ก็น่าจะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับวงการนี้ได้อีกมากครับ