ชาวสูงเนินพัฒนาสะพานดำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่โคราช
นายนคร กิตติพูลธนากร นายกเทศมนตรีตำบลสูงเนิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ในพื้นที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา มีสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยวทางน้ำ ที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ น้ำตกวังเณร ซึ่งถือเป็นจุดเล่นน้ำคลายร้อน
ที่มีประชาชนพาครอบครัวไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จำนวนมาก แต่ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าว ได้รับความนิยมเกินกว่าที่แหล่งน้ำตกจะรองรับได้ ส่งผลให้ทัศนียภาพ และสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงถูกทำลาย ดังนั้น ในโอกาสที่ทางเทศบาลตำบลสูงเนิน มีสะพานรางรถไฟ หรือที่เรียกกันว่าสะพานดำ ซึ่งเป็นสะพานรางรถไฟ ที่ตัดผ่านเหนือคลองลำตะคอง ทางเทศบาลตำบลสูงเนิน จึงได้จับมือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้านในชุมชน ช่วยกันปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาบริเวณสะพานดำ เพื่อหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของ อ.สูงเนิน ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
นายกเทศมนตรีตำบลสูงเนิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งตนได้ประสานไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสูงเนิน ในการมาติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ และนำถังแกลลอนมาติดตั้งไว้ในจุดใกล้เคียง เพื่อหากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ก็จะได้มีการนำถังแกลลอนนี้ไปช่วยชีวิตได้ทันท่วงที
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสะพานดำ สถานีรถไฟสูงเนิน ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟสูงเนินประมาณ 300-400 เมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่กำลังฮอตฮิตที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา จุดเด่นของที่นี่นักท่องเที่ยวจะสนุกไปการหย่อนตัวลงเล่นน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติสวยๆ ล้อมรอบ ด้วยเพราะมีต้นอินทนิลต้นใหญ่ ที่คอยแผ่ร่มเงาปกคลุมลำน้ำ ให้ความร่มรื่นแก่ผู้มาเยือนให้ลงเล่นน้ำเพลินๆ ได้ทั้งวันไฮไลท์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ สะพานดำ สถานีรถไฟสูงเนิน เห็นจะเป็นสะพานไม้ข้ามลำน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมุมยอดฮิตสำหรับการถ่ายรูป รวมถึงยังมีมุมให้คุณได้ยืนถ่ายรูปคู่กับสะพานรางรถไฟ และไม่แน่ว่าขณะที่กำลังเล่นน้ำ ก็จะได้เห็นรถไฟแล่นผ่านเป็นระยะๆ ได้มุมมองและบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ไม่ซ้ำแบบใคร แถมยังสามารถนั่งปูเสื่อทานอาหารได้แบบชิลๆ อีกด้วยสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมายัง สะพานดำ สถานีรถไฟสูงเนิน สามารถมุ่งหน้ามายังสถานีรถไฟสูงเนิน ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสูงเนิน โดยหันหน้าเข้าสถานีจะมีถนนวิ่งไปทางด้านซ้ายขนานไปกับทางรถไฟขาเข้ากรุงเทพฯ วิ่งตรงไป ราว 300-400 เมตร ก็จะถึงที่หมาย