ช้างมงคล 10 ตระกูล
"ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ถ่ายทอดและทุ่มเทแรงกาย แรงใจอย่างสุดความสามารถถวายแด่พระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย"
ความเชื่อคติไตรภูมิ เกี่ยวกับเขาพระสุเมรุที่ประทับของพระอินทร์ เทวราชผู้ปกครองทำหน้าที่อภิบาลโลกและพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องการเปรียบพระมหากษัตริย์เสมือนสมมติเทพ เมื่อพระองค์สวรรคตจะเสด็จเสวยทิพยสมบัติยังเขาพระสุเมรุ ดังนั้นการจัดสร้างพระเมรุมาศสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงถูกออกแบบให้สอดคล้องกับคติดังกล่าว ซึ่งจะปรากฏประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ประกอบด้วย ช้าง ม้า โค และสิงห์ ที่ล้วนแล้วเป็นสัตว์มงคลและทรงพลังกำลัง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ โดยถูกจัดวางให้เห็นอยู่ทั้ง 4 ทิศ บริเวณสระอโนดาตที่เปรียบเสมือนมหาสมุทรทั้งสี่ด้าน รอบองค์พระเมรุมาศ
ประติมากรรม“คชสาร หรือ ช้าง”คือองค์ประกอบหนึ่งที่ประดับอยู่บริเวณสระอโนดาตทางทิศเหนือของพระเมรุมาศ โดยมีช้างหมู่พรหมพงศ์ หนึ่งในช้างมงคล ทรงพละกำลังตามความเชื่อจากตำราพระคชศาสตร์ ที่มหาเทพ 4 องค์สร้างขึ้น เป็นต้นแบบให้กับวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รังสรรค์ช้างทั้ง 10 ตระกูล ประกอบด้วย ฉัททันต์, อุโบสถ ,เหมหัตถี, มงคลหัตถี, คันธหัตถี, ปิงคัล, ดามพหัตถี, บัณฑระนาเคนทร, คังไคย, และกาฬวกะหัตถี
ต้นแบบช้างทั้ง 30 ตัว ถ่ายทอดลักษณะ อิริยาบถ และความพิเศษที่แตกต่างกันเอาไว้ ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าจากตำรา และแหล่งข้อมูลที่บันทึกไว้ มาเชื่อมโยงกับผลงานทั้งหมดถูกสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ โดย ประสิทธิ์ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ควบคุมจัดสร้าง
“เมื่อได้รับหน้าที่ให้ช่วยในงานประติมากรรมช้างในสระอโนดาต ประกอบพระเมรุมาศ ทางทีมงานก็ร่วมกันหารือถึงรูปแบบของช้างที่จะทำขึ้น โดยนำลักษณะช้างในหมู่พรหมพงศ์ มาเป็นต้นแบบสร้างช้างในอุดมคติทั้ง 10 ตระกูล ซึ่งทีมงานศึกษาจากกายวิภาคช้าง ผนวกกับตำราคติไตรภูมิที่มีเรื่องของช้างทั้ง 10 ตระกูลปรากฏอยู่ เช่น ในตำราจะบันทึกถึงลักษณะของงา และรูปแบบคชลักษณะเฉพาะตัวต่างๆ และเราก็นำลักษณะเหล่านี้มาผสมผสานในรูปแบบอุดมคติของช้าง 10 หมู่ ทางทีมงานได้ออกแบบช้างแต่ละตัวให้มีลักษณะอิริยาบถที่หลากหลาย จะบอกว่าไม่ซ้ำกันเลยก็ได้ เช่น ขณะที่ช้างก้าวเดิน นอน ลุกขึ้นยืน หรือแม้แต่การนั่ง”
งานประติมากรรมคชสาร 10 ตระกูล แฝงไว้ซึ่งศิลปะรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 และสื่อถึงพระองค์ผ่านงานชิ้นอย่างสวยงาม อาทิ ช้างที่ชื่อว่าอุโบสถ นำลักษณะของงาที่โค้งยาว เรียกว่า อ้อมจักรวาล ของ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ พระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประกอบรายละเอียดด้วย โดยประสิทธิ์ เล่าถึงกระบวนการขั้นตอนการรังสรรค์คชสารทั้ง 10 ตระกูลที่มีความพิถีพิถัน
“เริ่มต้นจากการขึ้นแกนโฟมให้มีโครงสร้างแบบกายวิภาคช้าง จากนั้นนำดินน้ำมันมาปั้นรายละเอียดแบบคชสารที่ได้กำหนดไว้ แล้วนำต้นแบบที่เสร็จสมบูรณ์ซึ่งผ่านการตรวจสอบรายละเอียดจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรแล้ว มาถอดพิมพ์เป็นซิลิโคนจึงค่อยนำยางซิลิโคนมาถอดแบบเป็นไฟเบอร์กลาส จากนั้นส่งมอบให้กับคณะจิตรกรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่างเป็นผู้ลงสีต่อไป”
ในฐานะตัวแทนผู้ปฏิบัติงานประสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างหาที่สุดมิได้
“งานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายนั้น แม้เป็นส่วนน้อยแต่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ถ่ายทอดและทุ่มเทแรงกาย แรงใจอย่างสุดความสามารถถวายแด่พระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงให้ วันนี้งานประติมากรรมช้าง บริเวณสระอโนดาต ประกอบประเมรุมาศคืบหน้าไปมากกว่า 95% แล้ว ซึ่งกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนที่ถ่ายทอดออกมาอย่างพิถีพิถัน นั่นคือหนึ่งในสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นครั้งสุดท้าย
ภาพ : ณพวุฒิ กาญจนภิญโญวงศ์ , จักรพันธ์ สังข์ขาว