โคราชเสียงแตก สนข.จัดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย แก้ปัญหาจราจรในเมือง ใช้รถไฟฟ้ารางเบา ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ที่โรงแรมแคนทารี จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 ตุลาคม นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายวิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเป็นประธานทำพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ช่วงที่ 3 โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยมีนายพงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ รองนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา ฐานะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ฯ พร้อมนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 200 คน ร่วมรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนที่มีความกังวลผลกระทบการดำเนินชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ การจราจร การประกอบอาชีพรวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีบ้านพักและที่ทำกินแนวเส้นทาง รถไฟฟ้ารางเบาหรือ Light Rail Transit (LRT) โดยเฉพาะสายสีเขียวเข้ม ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร ซึ่งมีแนวเส้นทางผ่านย่านใจกลางเมืองช่วงถนนโพธิ์กลาง-ถนนมุขมนตรี เกรงจะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่มีที่จอดรถยนต์ จึงจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นพร้อมชี้แจงการดำเนินโครงการให้ครบทุกขั้นตอนและครอบคลุม เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปโดยชอบและโปร่งใสรวมทั้งเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนร่วม
บรรยากาศช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็น ปรากฏเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยนายพงษ์เลิศ ฯ รองนายก ทน. ฯ กล่าวว่า สนข.ต้องการแก้ปัญหาจราจรหรือกระจายความเจริญ โดยจัดวางเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาให้วิ่งทั้งเมือง ซึ่งอาจเพิ่มปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ที่ยังกังวลกับที่จอดรถและอาคารสถานีบังหน้าร้านค้า ควรศึกษาแนวเส้นทางหลักที่มีปัญหาจราจรแอดอัด ดังนั้นการดำเนินโครงการ ฯ จึงมิใช่การตอบโจทย์ที่ถูกต้องที่สุด
นายวิจิตต์ ฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม กระทรวงคมนาคม จึงกำหนดกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาคและแก้ไขปัญหาจราจรด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ 3 เส้นทางหลัก ได้แก่สายสีเขียว สายสีส้มและสายสีม่วง ซึ่งมีทั้งสิ้น 30 สถานี ระยะห่างประมาณ 1 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ รวมมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท
แต่ผลสรุปในการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ครั้ง ที่ผ่านมา ปรากฏมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ฯ ค่อนข้างมาก สนข. จึงจัดประชุมอีกครั้ง เพื่อชี้แจงความเหมาะสมและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากข้อกังวลของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในแนวเส้นทางสีเขียวเข้ม ซึ่งมีพื้นที่ผิวถนน 3 ช่องจราจร กรณีพื้นที่จอดรถยนต์ โดยวางแผนเยียวความเดือดร้อนเบื้องต้น การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มี 2 แนวทาง ประชาชนต้องการ สนข.จะเสนอแผนให้รัฐบาลรับทราบ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการออกแบบรายละเอียดพร้อมศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ต้องหยุดดำเนินโครงการ ฯ