ปลัด ก.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจโรงงานขยะ จ.ระยอง
ปลัด ก.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจกำกับดูแลโรงงานคัดแยกขยะ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ค. 2561 นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม น.ส.ทัศนียา ลัธธนันท์ ผู้อำนวยการกองกลาง และนายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมคณะจากกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย รีไฟนิ่ง จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงกลั่นตัวทำละลายใช้แล้ว นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ นำกากสีจากการกลั่นตัวทำละลาย กาวเรซิ่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีและบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENCO)ซึ่ง ประกอบกิจการบำบัด/กำจัด และฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรม ในพื้นที่ มาบตาพุด อำเภอเมือง ระยอง
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบโรงงาน 3 ประเภท ได้แก่1.โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (โรงงานลำดับที่101) 2.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัตถุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานลำดับที่105) และ3.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ (โรงงานลำดับที่106) จำนวน จำนวน 2,265 โรงงานทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานไปแล้ว จำนวน 1,288 โรงงานสั่งปิดไปแล้ว 10 โรงงาน ให้ปรับปรุง 50 โรงงาน ซึ่งจังหวัดระยองนับว่ามีจำนวนโรงงานคัดแยกขยะมากถึง 179 โรงงาน ได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 81 โรงงาน เหลือจำนวนโรงงานอีก 98 โรงงานที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีนโยบายยกระดับการตรวจโรงงาน กำจัดกากอุตสาหกรรม ให้เป็น 4.0 จากเดิม เคยตรวจ 7 หน้า ก็เพิ่ม ให้เป็น 10 หน้า ซึ่งจะมีการตรวจ ควบคุมให้เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม อุตสาหกรรม จังหวัด จึงต้องทำงานกันอย่างหนัก
ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดระยองในวันนี้ เพื่อกำกับการดำเนินการตรวจสอบโรงงานกลั่นตัวทำละลายแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ของ บริษัท เอเซีย รีไฟนิ่ง จำกัด จังหวัดระยอง เป็นโรงงานประเภท 106 ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ กลั่นตัวทำละลายที่ใช้งานแล้ว เช่น ทินเนอร์ อีเธอร์ แอลกอฮอล์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ขบวนการผลิตทำได้ ถูกต้องมีมาตรฐานเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการ ขบวนการรีไซเคิล เพราะ นอกจากจะทำธุรกิจส่งขายสารเคมีให้กับลูกค้าแล้ว ยังมีการรับกลับมาบำบัด เพื่อส่งขายให้ลูกค้าได้อีก นอกจากนี้ ยังนำเรื่อง ไอทีมาใช้ในการขนส่งนับว่า มีการพัฒนา เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย
ส่วนบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENCO)เป็นโรงงานประเภท 101 และ105 ประกอบกิจการบำบัด/กำจัด และฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรม ประเภท น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เศษพลาสติก เศษไม้ เศษยาง เศษกระดาษที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี เป็นต้น รับกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมปริมาณปีละ 80,000 ตัน จากการตรวจ ในกระบวนการผลิต ปรากฏว่า พบฝุ่นละอองเล็กน้อย จึงแนะนำให้เปิดระบบปรับฝุ่นละอองในช่วงที่มีการผลิต และกำชับให้ การนิคมฯ เข้าแนะนำ
ทั้งนี้ ภายหลังที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อุตสาหกรรมจังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานแล้วเสร็จทั้ง 2,265 โรงงาน จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้