เจ้าสัวแห่รุก 'บิ๊กดาต้า' เข็มทิศชี้ธุรกิจปี62
ต้องนำดาต้ามาบริหารจัดการ สร้างความยั่งยืนให้แบรนด์ แทนการตอบโต้ข้อความจำนวนมาก เพราะหากสาละวนโต้ทุกคน สุดท้ายแบรนด์จะเป็นผู้แพ้
นับตั้งแต่โลกเข้าสุ่ยุค “ดิจิทัล” สิ่งที่พ่วงท้ายมาด้วย หนีไม่พ้นเรื่อง “Big data” หรือขุมทรัพย์ข้อมูล ที่ทุกธุรกิจให้ความสนใจมากขึ้นต่อเนื่อง ถึงขั้นจะต้องลงขันทุ่มเงินเพื่อสร้าง “คลังเก็บข้อมูล” มากมายมหาศาลนี้
ทว่า ใช่ว่าทุกข้อมูลจะเป็นประโยชน์ บ้างก็อาจเป็นขยะ ทำให้ต้องมีการจัดการที่ดี โดยมี “นักวิเคราะห์ข้อมูล" (Data Analyst) นำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ต้นปีที่ผ่านมา “ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย” บริษัทเอเยนซีโฆษณารายใหญ่ ระบุว่า การใช้บิ๊กดาต้าในไทยยังเตาะแตะหลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจคำนี้ถ่องแท้ ขณะที่การนำบิ๊กดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆในองค์กรมีน้อยเพียง 20% เท่านั้น
ทว่า ความสำคัญของบิ๊กดาต้า มีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใครกุมข้อมูลของผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ลักษณะประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ อาชีพ รายได้ฯ เท่านั้น แต่เป็นการกุม “พฤติกรรม” หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ได้มากเท่าไหร่ มีสิทธิ์คว้าชัยได้มากขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เคยประเมินมูลค่าตลาดบิ๊กดาต้าในปี 2563 จะอยู่ที่ 1.32 หมื่นล้านบาท จากปี 2560 มูลค่า 6,000 ล้านบาท เรียกว่าโต “กว่าเท่าตัว”
“ภารุจ ดาวราย” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล บริษัท เดอะ ลีโอ เบอร์เนทท์ กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2562 ลีโอเบอร์เนทท์ฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการดาต้า พร้อมตั้งหน่วยงานดิจิทัลขึ้นมา 2-3 บริษัทเพื่อดูแลลูกค้า
สำหรับการรวบรวมดาต้า และมาใช้ จะช่วยให้คนทำโฆษณามีความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น สามารถนำเสนอคอนเทนท์โฆษณาได้ถูกทาง อยู่บนแพลตฟอร์มที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันคอนเทนท์ท่วมท้น หากส่งสารไปยังผู้บริโภคโดยขาดข้อมูลอาจกลายเป็นปัญหาตามมาได้
เขายังบอกด้วยว่า ปัจจุบันนักการตลาดให้ความใส่ใจกับ"การฟังเสียงของผู้บริโภคบนโลกโซเชียล (Social listening)อย่างมาก สังเกตได้จากในปี 2561 มีผู้คนโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์กันมากถึง 5.3 พันล้านข้อความ เติบโต 43% จากปี 2560 นี่แค่ดาต้าเท่านั้น หากนำบิ๊กดาต้ามาทำให้เกิดประโยชน์อีกขั้น ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่านี้
“กิตติพงษ์ วีระเตชะ” ประธานอำนวยการ วายแอน์อาร์ ประเทศไทย (Y&R) บอกว่า แบรนด์ต้องหันมาทำ Social Equity หรือการนำดาต้าที่ได้มาบริหารจัดการ เพื่อสร้างความยังยืนให้แบรนด์ แทนการตอบโต้ทุกข้อความ ที่คนโพสต์ก่นด่าว่าแบรนด์ เพราะหากธุรกิจสเกลใหญ่ขึ้น และสาละวนโต้ทุกคน สุดท้ายแบรนด์จะกลายเป็นผู้แพ้ และไม่มีจุดยืน
ปัจจุบันองค์กรที่ลุกมาจริงจังกับการทำบิ๊กดาต้า มีมากมาย ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องยกให้บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่ “เจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ส่งบริษัทส่วนตัว “อเดลฟอส” ตั้ง “ทีสเปซ ดิจิตอล” ควักเงินซื้อกิจการ “ตลาดคอทคอม” เพื่อสร้างบิ๊กดาต้า หวังเก็บเกี่ยวพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคระดับฐานราก
ไม่พอบริษัทในกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น(ทีซีซีกรุ๊ป)ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ยังส่งบมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือปัจจุบันคือ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” จับมือพันธมิตร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้า เซนเตอร์ หรือ เอสทีที จีดีซี บริษัทชั้นนำด้านการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จากสิงคโปร์ลงขันกันพัฒนาศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย
กลุ่มสิงห์ ของตระกูลภิรมย์ภักดี ก็ลุกมาขยับตัวลงทุนในสตาร์ทอัพ เป้าหมายหนึ่งในนั้นคือการหานวัตกรรมมาเอื้อต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือบริหารจัดการข้อมูลด้านการค้าขายในห่วงโซ่ให้มีประสิทธิภาพ
รวมถึงกลุ่มสหพัฒน์ ที่ลุกมาพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ที่อาคารบางกอกทาวเวอร์ เดินหน้าอัพเกรดเซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการค้าขายกับซัพพลายเออร์ทั่วประเทศ สร้างการเติบโตอาณาจักรแสนล้านต่อไป