'เมรุลอยหลวงพ่อคูณ' โชว์ศิลปะ 'ไทย-ลาว' หนึ่งเดียวในโลก
คณบดีศิลปกรรม มข. เผยเมรุลอยหลวงพ่อคูณ เน้นการมีส่วนร่วมของศิลปินทุกแขนง ไม่ยึดแบบของใครโดยเฉพาะ เป็นผลงานศิลปะชาติพันธุ์ไทย-ลาว ชิ้นเดียวและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้รับผิดชอบการออกแบบเมรุลอยของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่จะมีขึ้นบริเวณ วัดพระพุทธมณฑล วิทยาเขตวัดหนองแวงพระอารามหลวง ริมถนนเลี่ยงเมือง จ.ขอนแก่น ในวันที่ 29 มกราคมนี้ว่า มีกำหนดเคลื่อนย้ายเมรุลอยทั้งนกหัสดีลิงค์และสรรพสัตว์ที่ได้จัดเตรียมไว้บริเวณริมบึงสีฐาน หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปยังวัดหนองแวง วิทยาเขตพุทธมณฑลอีสาน ในวันที่ 8 มกราคมนี้ เพื่อนำไปประกอบส่วนและเตรียมพิธีพระราชทานเพลิงศพที่นั่น และคาดว่าจะประกอบส่วนทั้งหมดแล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคมเช่นกัน และอยากจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยากจะมาเคารพศพและร่วมกราบไหว้ให้มาก่อนวันงาน เพราะคาดว่าในวันงานจะมีศิษยานุศิษย์มาร่วมงานกว่าล้านคน
สำหรับการทำเมรุลอยของหลวงพ่อคูณนั้น รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า เน้นเรียบง่ายและดึงความเป็นตัวตนของหลวงพ่อคูณออกมาให้ได้มากที่สุด โดยการออกแบบนั้นเน้นการมีส่วนร่วมของศิลปิน ไม่เน้นฝีมือช่างว่าใครทำ เพราะอยากจะให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นงานทุกอย่างของหลวงพ่อคูณที่จะดำเนินการนั้น จะเป็นการรวมสรรพช่าง สรรพศิลปินที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้ยึดรูปแบบใครหนึ่งเดียว แต่มีความเป็นอีสาน งานศิลปะจะออกเป็นรูปแบบกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว เพื่อให้ตรงตามที่พินัยกรรมหลวงพ่อคูณได้กำหนดเอาไว้
โดยเฉพาะในส่วนนกหัสดีลิงค์ ที่จะมีแบบนี้เพียงตัวเดียวในโลก โดยจะเน้นสีขาวคือความเรียบง่ายตามบุคลิกและนิสัยของหลวงพ่อคูณ แต่ตกตัวนี้จะมี 4 งา เหมือนกับช้างที่วัดบ้านไร่ของหลวงพ่อคูณ มีช้าง 4 งา นก และช้างที่นี่ก็จะเป็น 4 งาเหมือนกันซึ่งไม่เหมือนใคร
นอกจากนั้นในส่วนของพญานาค ก็จะเป็นนาคยิ้ม ไม่เหมือนที่ไหน เพราะปกติพญานาคจะต้องหน้าดุ เพราะเป็นทวารบาล แต่นาคของหลวงพ่อคูณจะต้องยิ้ม ใจดี และยิ้มเห็นฟันด้วย ซึ่งจะมีเพียงตัวเดียว และหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น
“วิถีของหลวงพ่อคูณคือ สมถะ รู้อยู่ รู้มี รู้ดี รู้พอ งานศิลปะทั้งหมดจะมองเห็นความเป็นหลวงพ่อ แต่ใครจะเสพได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รวมถึงลวดลายต่าง ๆ ที่ปรากฎก็จะเป็นลวดลายอีสานด้วยเช่นกัน และการทำเมรุลอยในงานหลวงพ่อคูณนี้ถือเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว พอเสร็จจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้วก็จะมีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งเพื่อสื่อสารกับทุกคนว่า กว่าจะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศงานนี้คณะทำงานทุกคนทำงานกันหนักเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด” รศ.ดร.นิยม กล่าว
ส่วนเตาเผานั้น รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า เตาเผาที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ นั้นสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นเตาเผาสีทองอร่าม ประตูเตาเผา ฉลุเป็นรูปหลวงพ่อคูนในท่านั่ง ซึ่งขณะนี้ได้ถูกนำมาวางไว้ตรงกลางเมรุลอย ห่อหุ้มด้วยพลาสติกใส ไม่ให้โดนฝุ่นละออง ซึ่งเตาเผานี้จะถูกใส่ไว้ภายในเมรุลอยนกหัสดีลิงค์
“เตาเผาดังกล่าวนี้มีขนาดเตาหากวัดจากภายนอกได้ ไม่รวมฐานเหล็ก กว้าง 1.52 เมตร ยาว 2.78 เมตร สูง 1.61 เมตรใช้อิฐประสาน 860 ก้อน ภายในเตาจะวางเรียงด้วยไม้จิก 129 ท่อน และไม้มงคลชนิดต่างอีก 6 ท่อน แบ่งเป็นไม้รองฟืน 2 ท่อน ไม้รองโลง 2 ท่อน และไม้ล็อคหัวโลง 2 ท่อน เมื่อเกิดการเผาไหม้ เถ้าอัฐิ จะหล่นลงถาดแสตนเลส ไม่ฟุ้งกระจาย และจะนำไปลอยอังคารแม่น้ำโขงตามพินัยกรรม” รศ.ดร.นิยม กล่าว