9 ม.ค.62 กฎหมายคุมไขมันทรานส์บังคับใช้
อย.ลั่น 9 ม.ค.62 กฎหมายคุมไขมันทรานส์มีผลบังคับใช้ เตรียมลุยสุ่มตรวจผู้ประกอบการ ขณะที่ด่านอาหารและยาเข้มสกัดห้ามนำเข้า เจอทำผิดจัดการตามดกฎหมายทันที เล็งออกกฎเกณฑ์ฉลากแสดงไขมันทรานส์ หลังห้ามใช้ 0%
หลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2562 ทั้งนี้การเติมไฮโดรเจนบางส่วนนั้นทำให้เกิดไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ในการเสวนา “จับตาไขมันทรานส์หลังกฎหมายบังคับใช้” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหมอชาวบ้าน จัดจากการ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้เตรียมความพร้อมโดยมีการประชุมชี้แจงกับผู้ประกอบการไขมัน ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ให้เข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงวางแผนเฝ้าระวังและตรวจสอบติดตามหลังจากที่ประกาศฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีการติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวังทั้งสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่าย ซึ่งสำนักอาหารจะมีการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง อย่างน้อย 100 ตัวอย่าง จะเป็นในส่วนของผลิตภัณฑ์เป้าหมาย อามิ เนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่โดยเฉพาะพาย คุกกี้ โดนัทหรือขนมที่ต้องทอดให้ฟู นุ่ม
ขณะที่ด่านอาหารและยาที่อยู่บริเวณด่านข้ามแดนทั่วประเทศจะตรวจสอบการไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ามายังประเทศไทย โดยจะมีการสุ่มตรวจในช่วงที่จะมีการนำเข้าผ่านด่านต่างๆ พร้อมกับจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 50 ของพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมากและมีการปรับสูตรไม่ใช้น้ำมันประเภทนี้แล้ว และขำย้ำว่าแม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ 9 ม.ค. 2562 แต่มีการวางจำหน่ายหลังวันที่ดังกล่าวถือว่ามีความผิดด้วย
"อย.ไม่อนุญาตให้ใช้ระบุในฉลากอาหารว่าไขมันทรานส์ 0% หรือปราศจากไขมันทรานส์ เพราะจริงๆไขมันทรานส์ยังพบได้ในธรรมชาติแต่ในปริมาณที่น้อยมาก จึงให้ใช้ว่าปราศจากไขมัน/น้ำมันที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่เมื่อกฎหมายบังคับใช้ข้อความนี้จะใช้ไม่ได้เพราะถือว่าอะไรที่กฎหมายห้ามแล้วจะต้องไม่มีจึงไม่ต้องแสดงระบุบนฉลากอีก ขณะนี้อย.จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับฉลากว่าจะสามารถระบุเกี่ยวกับไขมันทรานส์ในอาหารได้อย่างไรบ้าง โดยอาจจะมีการกำหนดในรายละเอียดว่าจะมีไขมันทรานส์ได้ไม่เกินเท่าไหร่จึงจะอนุโลมว่าไม่มี แต่จะต้องเป็นปริมาณที่น้อยมากๆซึ่งเป็นไขมันทรานส์ตามธรรมชาติที่อาจจะเจอได้อยู่แล้ว"ภญ.สุภัทรากล่าว
///////