พณ.ถกเอกชน หลังควบคุม 'ยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์'
"พาณิชย์" ถกเอกชน-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังกกร.มีติให้ "เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์" เป็นสินค้าควบคุม "สนธิรัตน์" ปัดโดนล็อบบี้ ยันจุดยืนดูแลประชาชน
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลัง หารือกับตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้ประกอบการสถานพยาบาล เกี่ยวกับมาตรการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ ว่า มีการหารือกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น มีทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยในส่วนที่เอกชนเห็นด้วยก็คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่ก็ได้ย้ำว่าการวางมาตรฐานราคายา และบริการทางการแพทย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีความหลากหลาย แม้จะเป็นโรคเดียวกันแต่วิธีการรักษาก็ต่างกัน ทำให้การกำหนดค่ารักษาทำได้ยากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งทั้งตัวผู้ป่วย การจ่ายยา ค่าตัวแพทย์ และการบริการ ก็มีความแตกต่างกัน อีกทั้งทุกส่วนยังเกี่ยวพันกันทั้งหมดและยังกระทบกับระบบดูแลสุขภาพโดยรวมของประเทศ
“มีข่าวลือว่ามีการล็อบบี้นั้นไม่จริง และไม่มีใครมาล็อบบี้ผม แต่เห็นว่าเมื่อมีการมติกกร.ออกไปก็มีกระแสขัดแย้งทั้งไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และไม่เกิดผลกระทบวงกว้าง โดยขอยืนยันจุดยืนว่าต้องดูแลประชาชนที่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น จึงต้องมีการหารืออย่างรอบคอบ โดยจำเป็นต้องรับฟังทุกส่วนในเชิงลึก เพื่อวางมาตรการเป็นโครงร่างที่ชัดเจนก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา"
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าทำเอามันเพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ขอให้สบายใจว่ากระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อ แต่ต้องดูในเกิดสมดุลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการต้องเดือดร้อน และเศรษฐกิจโดยรวม ขณะนี้ต้องรอการหารือก่อนดูผลกระทบในวงกว้าง ยังบอกไม่ได้ว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.ได้เมื่อไหร่ ยังยืนยันว่าไม่มีใครมาล็อบบี้ให้ถอนมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)โดยจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการการควบคุม ยาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม นั้นโรงพยาบาลเอกชนมีมาตรการที่โปร่งใสอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นมั่นใจได้ว่าการบริการของโรงพยาบาลมีความโปร่งใส
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การหารือครั้งนี้คาดหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้านำเวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์เข้าสู่ที่พิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้รับบริการ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 200 เรื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอัตราการร้องเรียนที่สูงมากเป็นอันดับสอง แสดงว่าอัตราค่าบริการทางการแพทย์และเวชภัณฑ์นั้นสูงมาก เป็นปัญหาต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง จึงมีการร้องเรียนเข้ามาอย่างมาก เช่นบางกรณีมีการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น
น.ส.สารี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือกับภาคเอกชนและเห็นชอบร่วมกันว่า ในการกำหนดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลใน 2,000 รายการ แต่ก็แปลกใจว่าทำไมภาคเอกชนถึงไม่ยอมรับในข้อเสนอ ทั้งที่การกำหนดในครั้งนั้นก็มีส่วนต่างของต้นทุนและกำไรไปแล้ว ส่วนที่เอกชนกังวลว่าหากมีการควบคุมราคา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์มีผลกระทบต่อราคาหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนนั้นเท่าที่ศึกษาก่อนหน้านี้ราคาหุ้นเคยต่ำลงถึง 3 บาท แต่ขณะนี้ราคาหุ้นพุ่งอยู่ที่ 15 บาท ดังนั้นจึงไม่ถือว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการในตลาดหุ้นลดลงเพราะมีปัจจัยหลายอย่างมากกว่านี้
รวมทั้งมีกรณีที่พบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งให้แพทย์ต้องรักษาคนไข้โดยให้ทำยอดค่ารักษาพยาบาลให้ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ต้องรักษาเกินความจำเป็นและทำให้ค่ารักษาสูงเกินจริง ทั้งนี้จะรอดูหากกระทรวงพาณิชย์ไม่เดินหน้าหรือมีการเลื่อนเสนอครม.ตามมติกกร. ในการนำสินค้า เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ อยู่ในบัญชีควบคุม ก็จะฟ้องดำเนินคดีฟ้องร้องนายสนธิรัตน์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครองตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้