ห่วงเด็กไม่เกิน 20 ปี อยู่พื้นที่ฝุ่น PM2.5 สูง สมรรถภาพปอดลดลง
แพทย์มหิดลห่วงเด็กไม่เกิน 20 ปีอยู่พื้นที่ฝุ่น PM2.5 สูง ส่งผลสมรรถภาพปอดลดลง เสี่ยงเผลกระทบระยะยาว อนาคตเสี่ยงเกิดโรคถุงลมโป่งพอง-มะเร็งปอดไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ ชี้ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการเข้ารักษาห้องฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.62 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและ วัณโรคภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว "มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5" ว่า ฝุ่น PM2.5 กระทบสุขภาพ 2 ส่วน คือ 1.ผลเฉียบพลัน สามารถเกิดกับทุกคนได้ ขึ้นกับความเข้มข้นของมลพิษ จะมีอาการแสบตา แสบจมูก ระคายคอ มีเสมหะได้ ส่วนคนป่วยโรคเรื้อรัง ปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง จมูกภูมิแพ้ ไซนัส ทำให้มีอาการมากขึ้น 2.ผลระยะยาว มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรามักลืมนึกถึง คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งหมายรวมไปถึงคนอายุ 20 ปี เนื่องจากคนเราเกิดมามีถุงลมจำนวน 25 ล้านใบ พออายุ 10 ขวบจะพัฒนาเพิ่มเป็น 8 เท่า หรือ 300 ล้านใบ และปอดจะขยายตัวเต็มที่ที่อายุ 20 ปี จนเต็มประสิทธิภาพและค่อยลดลงไปตามอายุ ซึ่งฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองของปอดไม่ต่างจากควันบุหรี่
"ผลที่พบ คือ สมรรถภาพปอดของเด็กที่อยู่ในย่านที่มีฝุ่น PM2.5 จะถดถอยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีฝุ่นหรือฝุ่นน้อย ถ้าประชากรต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นเช่นนี้หลายๆ ปี สมรรถภาพปอดที่อายุ 20 ปีจะเป็นจุดสูงสุดก็จะไม่ได้ และสมรรถภาพปอดจะลดลงเร็วกว่าเด็กที่ไม่สัมผัสฝุ่น ซึ่งในอายุ 40-50 ปี สมรรถภาพปอดอาจถดถอยเหมือนคนเป็นโรคถุงลมโป่งพองในคนสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการระคายเคืองของเซลล์ในปอดตลอดเวลา จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้เหมือนกับบุหรี่ในเวลา 10-20 ปีข้างหน้า" รศ.นพ.นิพัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การศึกษาในประเทศที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปบางประเทศ พบว่า ช่วงที่บรรยากาศมีฝุ่น PM2.5 เยอะ มีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉิน รพ.สูงขึ้น และมีการเสียชีวิตจากโรคทางปอดและหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น เป็นผลระยะสั้นพร้อมกับอัตราการเพิ่มของฝุ่นที่มากขึ้น ส่วนในระยะยาวประชาชนอาศัยในพื้นที่ที่มีฝุ่นเป็นเวลานาน การศึกษาพบว่า มีประชาชนในเมืองนั้นมีโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่า มีอาการเกิดโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยฝุ่นพวกนี้ทำให้เกิดอนุมุลอิสระและทำให้เกิดโรคต่อ หรือฝุ่นไปเหนี่ยวนำทำให้เกิดอักเสบในตำแหน่งที่ฝุ่นเข้าไปอยู่จึงเกิดปัญหาตามมา ที่สำคัญคนเรามักคิดว่าฝุ่นคือผงจากคาร์บอนเล็กๆ ที่ละเอียด จริงๆ มีมากกว่านั้นเชื่อว่ามีสารบางอย่างอยู่ในฝุ่นนั้นด้วย เช่น สารโลหะหนักบางชนิด หรือสารก่อมะเร็ง โดยประชากรตรงนั้นก็มีอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มด้วยโดยเฉพาะมะเร็งปอด