ครม. รับแนวทาง ป.ป.ช. เสนอแก้ปัญหาจีทูจี ใช้ในอนาคต
ครม.รับทราบแนวทาง ป.ป.ช. ปรับข้าราชการประจำเป็น ปธ.อนุ กก.แทน ขรก.การเมือง - หลักตรวจสอบชัดเจนทั้งสัญญา-การจ่ายเงิน ส่งต่อ ก.พาณิชย์ใช้อนาคตป้องกันความเสียหายแบบจีทูจีระบายข้าวเดิม
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. กรณีที่ประชุม ครม.รับทราบการรายงานเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอแนวทางการพิจารณามาตรการการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี จากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวว่า ที่ผ่านมานโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตโดยเข้าไปแทรกแซงกลไกราคา ตลาดอย่างต่อเนื่องในการระบายข้าวของรัฐบาล (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แบบรัฐต่อรัฐเป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่ามีการบิดเบือนวิธีการที่ผิดไปจากระเบียบ วิธีการการค้าระหว่างประเทศตามรูปแบบจีทูจี
อีกทั้งยังมีการกล่าวอ้างข้อจำกัดทางการค้าที่เป็นความลับไม่สามารถเปิดเผยได้เพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเป็นช่องทางการทุจริตในการบริหารราชการ รวมถึงการปกปิดข้อมูลเพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบโดยเฉพาะรายละเอียดคู่สัญญา ข้อตกลงต่างๆ เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งความเสียหายให้ประเทศชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างครอบคลุมในทุกด้าน
ดังนั้น ป.ป.ช.จึงนำเสนอแนวทางให้กระทรงพาณิชย์และรัฐบาลเพื่อใช้แก้ปัญหาการค้าระหว่างรัฐต่อรัฐโดยเฉพาะเรื่องสินค้าเกษตรกร คือ 1.ส่วนของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวที่เดิมจะมีรัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองเป็นประธาน ก็ให้เป็นข้าราชการประจำแทน เพราะจะมีความเข้าใจ ข้อมูลละเอียด 2.ขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนการลงนามในสัญญา รายละเอียดของคู่สัญญาที่จะทำ ก็ให้เป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐบาล หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ส่วนวิธีการส่งมอบข้าวก็ให้รัฐบาลไทยต้องส่งออกข้าวไทยโดยมีหลักฐานสำคัญคือ มีใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกนอกประเทศที่ชัดเจน วิธีการชำระเงินก็ต้องชำระเงินระหว่างประเทศที่สามารถตรวจสอบที่มาและแหล่งเงินได้จริง และมีหลักฐานยืนยันชัดเจน โดย ครม.ก็รับทราบข้อเสนอแนวทางดังกล่าวของ ป.ป.ช.แล้วก็ส่งมอบให้กระทรวงพาณิชย์ใช้เป็นแนวทางต่อไปในอนาคตหากมีโครงการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจีอีก