เปิดใจจนท.กู้ภัยฯ นาทีปีนขึ้นช่วยคนงานติดปลายยอดเครนถล่ม
เปิดใจเจ้าหน้าที้กู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง นาทีชีวิตปีนขึ้นช่วยคนงานติดปลายยอดเครนก่อสร้างคอนโดฯ ย่านพระราม3ถล่ม
จากกรณีอุบัติเหตุเครนถล่ม ภายในสถานที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านถนนพระราม3 ซอย 45 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 ราย โดยยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และหมดสติค้างอยู่บนเครนอีก 1 ราย ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ต้องวางแผนเพื่อเข้าทำการช่วยอเหลือ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ด่วน! เครนสร้างคอนโดฯ ถล่ม คนงานดับ 4 ราย สาหัส 5
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายจิรัฐฒิกร บรรจงกิจ เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งเป็นทีมกู้ชีพที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือนายเติมศักดิ์ ศรีพิทักษ์ ผู้ได้รับบาดเจ็บที่ติดค้างอยู่บนซากเครน เปิดเผยว่า การเข้าให้ความช่วยเหลือจะต้องประสานเจ้าหน้าที่ กทม. และเจ้าหน้าที่ สปภ. ในการปฏิบัติ ในขั้นตอนแรกจะต้องพูดคุยกับทีมวิศวกรที่คุมงาน และวิศวกรโยธาของกทม. ถึงขั้นตอนในการปฏิบัติ ซึ่งตอนแรกผู้ประสบภัยยังร้องขอความช่วยเหลืออยู่ และเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปสำรวจบนดาดฟ้าถึงขั้นตอนในการช่วยเหลือ คือ 1 ทีมเจ้าหน้าที่สปภ.กทม. และทีมมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ทำการเซ็ตระบบ ไว้ 2 อย่างที่จะเข้าช่วยเหลือ คือ ใช้เจ้าหน้าที่ 4 นาย เดินขึ้นไปให้ถึงตัวผู้ประสบภัยก่อน เพราะทีมวิศวกรยืนยันว่า รากฐานของเครนที่ล้มยังมั่นคงอยู่ และยังสามารถขึ้นไปได้ ดังนั้น จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยไป 4 คนขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยก่อน 2.ส่วนด้านล่างจะใช้ระบบเครน 90 เมตร ในการตั้งระบบในการที่จะขึ้นไปให้ถึงด้านบน แต่เนื่องจากมีอุปสรรคพื้นที่จำกัดจึงไม่สามารถขึ้นไปถึงด้านบนได้
นายจิรัฐฒิกร เปิดเผยอีกว่า ทีมกู้ชีพที่อยู่ด้านบนจึงได้ประสานลงมาที่ทีมทำงานด้านล่าง ทั้งทีมควบคุมการปฏิบัติการ ทั้งปฏิบัติการ 1 ของสปภ. ยานนาวา และทุ่งมหาเมฆ ว่าจะดำเนินการช่วยเหลือต่ออย่างไร เนื่องจากผู้ประสบภัยเสียเลือดมาก และติดอยู่เป็นเวลานาน จึงได้ประชุมกันในทีมขอให้เคลื่อนย้ายคนเจ็บลงมาโดยใช้ระบบเชือก ส่งผู้บาดเจ็บลงมายังดาดฟ้าอาคารที่กำลังก่อสร้าง โดยใช้ขั้นตอนการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากผู้ประสบภัยเริ่มหมดสติแล้ว ทั้งนี้ในตอนแรกผู้ประสบภัยมีอาการอ่อนเพลียและเสียเลือดมาก เพราะกระดูกหักหลายท่อน แต่กำลังใจค่อนข้างดี แต่เนื่องจากขั้นตอนในการช่วยเหลือค่อนข้างลำบาก เพราะทีมที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือและผู้ประสบภัยจะต้องปลอดภัยด้วย
นายจิรัฐฒิกร เปิดเผยด้วยว่า เมื่อขึ้นไปถึงตัวผู้ประสบภัยในตอนแรกได้กอดราวเหล็กที่หักคาไว้ด้านบน โดยมีอุปกรณ์เซฟตี้ของช่างเกี่ยวอยู่ จึงไม่ตกลงมา โดยผู้บาดเจ็บเริ่มหมดสติตอนโรยตัวลงมา เมื่อมาถึงบนดาดฟ้าของอาคาร ผู้ประสบภัยได้หมดสติ เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่อยู่ด้านบนได้ทำการ CPR และร้องขอทีมกู้ชีพระดับแอดวานซ์รับช่วงต่อ สำหรับอุปสรรคในการช่วยชีวิตอย่างแรกคือ โครงสร้างในการช่วยเหลือ 100 เปอร์เซ็น ที่ไหนก็บอกว่าไม่ปลอดภัยแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินและปรึกษากับทุกหน่วยงาน ทั้งวิศวกร ที่จะต้องให้คำแนะนำว่า ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย และทางเจ้าหน้าที่กู้ภัย ที่ขึ้นไปด้านบนจะต้องประเมินสถานการณ์ด้วยว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และตัวเองต้องปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ ขั้นตอนการเข้าความช่วยเหลือดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้รับการอบรมมาทั้งระบบเซฟตี้ และระบบการลำเลียงผู้ป่วย