หัวเว่ยรุก 5G เปิดตัวชิปเซ็ต Balong5000 โวนวัตกรรมเร็วสุดในโลก
"หัวเว่ย" โว เปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการสื่อสารแบบไร้สายที่เร็วที่สุดในโลก ด้วยชิปเซ็ต 5G มัลติโหมด และอุปกรณ์ 5G CPE Pro
ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวว่า “ชิปเซ็ต Balong 5000 จะนำผู้บริโภคทุกคนก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เพราะชิปเซ็ตนี้ช่วยให้แนวคิด 5G กลายเป็นความจริง อีกทั้งช่วยให้กระบวนการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เป็นไปได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ 5G CPE Pro ที่ใช้ชิปเซ็ต Balong 5000 เป็นหน่วยประมวลผลกลางนั้นช่วยให้ผู้บริโภคใช้งานเครือข่ายต่างๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นและรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคย หัวเว่ยพัฒนานวัตกรรม 5G ในทุกองค์ประกอบทั้งชิปเซ็ต อุปกรณ์ ระบบคลาวด์ และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ ซึ่งความเป็นผู้นำของหัวเว่ย ด้านเทคโนโลยี 5G รวมไปถึงการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้หัวเว่ยนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นเลิศและเปี่ยมประสิทธิภาพสู่ผู้บริโภคทั่วโลกในทุกจังหวะของชีวิต”
หัวเว่ยระบุว่าชิปเซ็ต 5G มัลติโหมดรุ่นแรกของโลก ชิปเซ็ต Balong 5000 คือชิปเซ็ตตระกูล Balong ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยชิปเซ็ตรุ่นล่าสุดนี้มีขนาดเล็กแต่ผสานนวัตกรรมที่หลากหลายไว้ภายใน ชิปเซ็ตนี้รองรับการสื่อสารแบบ 2G 3G 4G และ 5G ในตัว จึงสามารถลดทั้งความหน่วงของการรับส่งข้อมูลและพลังงานที่ใช้ขณะรับส่งข้อมูลที่โหมดการทำงานต่างๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ในช่วงเวลาที่การสื่อสารแบบ 5G เริ่มใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน
ชิปเซ็ต Balong 5000 เป็นชิปเซ็ตรุ่นแรกที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านอัตราการดาวน์โหลดที่ย่านความเร็วระดับ 5G ให้กับอุตสาหกรรมการสื่อสาร โดยชิปเซ็ตนี้รองรับความเร็วการดาวน์โหลดได้ถึง 4.6 กิกะบิตต่อวินาทีเมื่อใช้งานที่ย่านความถี่กลุ่ม Sub-6 GHz หรือคลื่นความถี่ต่ำที่กำหนดให้เป็นคลื่นความถี่หลักสำหรับการสื่อสารแบบ 5G และชิปเซ็ตนี้ยังรองรับความเร็วการดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 6.5 กิกะบิตต่อวินาทีเมื่อใช้งานที่ย่านความถี่กลุ่มมิลลิเมตเตอร์เวฟ (mmWave) หรือคลื่นความถี่สูงที่กำหนดให้เป็นคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับการสื่อสารแบบ 5G ซึ่งความเร็วในการดาวน์โหลดดังกล่าวเร็วกว่าชิปเซ็ต 4G LTE รุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ใช้ในท้องตลาดปัจจุบันถึง 10 เท่า นอกเหนือจากนี้ ชิปเซ็ต Balong 5000 ยังเป็นชิปเซ็ต 5G รุ่นแรกของโลกที่สามารถใช้งานได้กับโครงข่ายทั้งแบบที่ทำงานได้โดยอิสระ (SA) และแบบที่ต้องทำงานร่วมกับโครงข่ายอื่น (NSA) โดยโครงข่ายแบบที่ต้องทำงานร่วมกับโครงข่ายอื่นนั้นคือโครงข่าย 5G ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมจากโครงข่าย 4G LTE ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนโครงข่ายที่ทำงานได้โดยอิสระนั้นคือโครงข่าย 5G ที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอิงกับโครงข่ายใดๆ ยิ่งไปกว่านี้ ชิปเซ็ต Balong 5000 ยังเป็นชิปเซ็ตที่สามารถปรับแต่งให้สอดคล้องกับผู้ใช้หรือผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีความต้องการแตกต่างกันได้