กกต. ถกผู้บริหารทีวี ขอเวลาออกอากาศหาเสียงเลือกตั้ง วันละ 1 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 10 วัน ให้อิสระในการจัดผังรายการตั้งแต่ 6 โมงเช้ายันเที่ยงคืน คาดพรรคการเมืองส่งสมัครไม่เกิน 60 พรรค จาก 105 พรรค
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมือง โดยนายแสวง กล่าวว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 105 พรรค แต่มีพรรคที่มีคุณสมบัติสามารถส่งผู้สมัครได้แล้วในขณะนี้ 36 พรรค ทั้งนี้ประมาณการณ์จนถึงวันเปิดรับสมัครว่า จะมีพรรคที่สามารถส่งผู้สมัครได้ 60 พรรค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้รัฐจัดสรรเวลาออกอากาศให้กับพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน กกต.จึงอยากขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ในการจัดสรรเวลาออกอากาศ วันละ 60 นาที ระหว่างวันที่ 8 21 มี.ค. โดย 5 วันแรก เป็นการออกอากาศสปอตโฆษณาของพรรคการเมือง พรรคละ 10 นาที ส่วนอีก 5 วันถัดมา เป็นการออกอากาศเทปการประชันนโยบายของพรรคการเมือง โดยวัสดุการออกอากาศทั้ง 2รูปแบบ กกต. จะจัดส่งให้สถานีนำไปเผยแพร่ซึ่งทางสถานีสามารถเลือกเผยแพร่ได้ในช่วงเวลา 06.00 24.00 น. โดยไม่จำเป็นว่าแต่ละสถานีจะต้องเผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะกกต.เข้าใจถึงผังรายการออกอากาศ และกรณีนี้เป็นการขอความร่วมมือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ทางผู้บริหารสถานีสอบถามเพื่อขอความชัดเจนจาก กกต. คือ สถานีสามารถจัดเวทีดีเบตได้เองหรือจัดรายการวิเคราะห์การเมืองได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า การทำหน้าที่ขอสื่อยังคงทำได้ตามปกติ แต่การจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาดีเบต หรือเสนอข่าวขอให้คำนึงถึงความเท่าเทียม ไม่ใช่ให้น้ำหนักกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะถ้าเกิดกรณีดังกล่าว อาจทำให้สื่อถูกร้องเรียนจากพรรคการเมืองเอง หากนำเสนอข่าวบนพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ รับรองไม่ผิดกฎหมายแน่นอน ไม่ใช่เน้นโปรโมทให้กับพรรคหนึ่งพรรคใด หรือมุ่งโจมตีไปที่พรรคเดียวที่สำคัญต้องไม่ใส่ร้ายป้ายสี หรือทำให้พรรคการเมืองได้รับความเสียหายโดยไม่มีข้อเท็จจริง
นายแสวง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานะของพรรคการเมืองขณะนี้ว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 25 ม.ค. มีพรรคการเมืองที่พร้อมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วจำนวน 36 พรรค แยกเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ที่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ใน 4 เรื่อง คือ การมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท จัดให้มีสมาชิก 500 คน ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับพรรค และประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ครบถ้วน รวมทั้งจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบรวม 77 จังหวัด จำนวน 14 พรรค ประกอบด้วย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อไทย พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคชาติพัฒนา และพรรคเพื่อสหกรณ์ไทย
ขณะที่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งดำเนินการเพียงเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบรวม 77 จังหวัดครบถ้วนก็สามารถสมัครได้แล้ว ซึ่งขณะนี้มีทั้งสิ้น 22 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคอนาคตใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคพลังไทสร้างชาติ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาชาติ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคเพื่อนไทย พรรครวมใจไทย พรรคไทยธรรม พรรคเพื่อคนไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคแผ่นดินธรรม พรรคพลังแผ่นดินทอง พรรคไทยรุ่งเรือง พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังแรงงานไทย พรรคประชานิยม พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคประชาธรรมไทย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถานะพรรคการเมืองกกต. จะมีการอัพเดตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันเปิดรับสมัคร โดยเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองที่มีความพร้อมในการส่งผู้สมัครเพิ่มมากขึ้น และกกต.จะจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณารับสมัคร