การเคหะแห่งชาติฟันกำไร 1,713 ล้านทจัดหนัก 5 โครงการปี 62
46 ปีกคช.พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว 734,183 หน่วยกำไร 1,713 ล้านบาท สูงขึ้นต่อเนื่องเกือบ 150 % พุ่งเป้าทิศทางปี 62 "ปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม" จัดหนัก 5 โครงการ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.62 ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 46 ปี การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งสิ้น จำนวน 734,183 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 279,977 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด (ปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิมและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่) 233,964 หน่วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน 165,723 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,708 หน่วย โครงการสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 จำนวน 334 หน่วย และโครงการแก้ไขวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย
สำหรับผลประกอบการของการเคหะแห่งชาติในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา มีผลกำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่ทำผลกำไรสุทธิได้ 1,143 ล้านบาท คิดเป็น 49.86 % และย้อนหลังไปในปีงบประมาณ 2559 ทำกำไรสุทธิได้ 572 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 มีกำไรสูงขึ้น 100 % ส่วนปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้ากำไรสุทธิไว้ 1,374 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการในไตรมาสแรก (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2561) ทำกำไรสุทธิเบื้องต้น 328 ล้านบาท
การดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติเดินตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยมีผลงานไฮไลท์หลายโครงการที่สามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐได้เป็นอย่างดี และขับเคลื่อนต่อเนื่องในปี 2562 โดยเฉพาะ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง นับเป็นผลงานเด่นที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด สามารถจัดสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (แปลง G) รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม แฟลตที่ 18 - 22 จำนวน 334 หน่วย ได้สำเร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 2 อาคาร รวมทั้งสิ้น 1,247 หน่วย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2562
อีกโครงการหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์คือ โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุน ซึ่งจะช่วยขยายตลาดที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยให้มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่าย โดยมีแนวทาง 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแรก โครงการร่วมลงทุนกับเอกชน (Joint Investment) ในโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จำนวน 5 โครงการ
รูปแบบที่สอง โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Operation) มูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ดำเนินการตามข้อบังคับและระเบียบของการเคหะแห่งชาติ โดยการเคหะแห่งชาติคัดเลือกแปลงที่ดินที่มีศักยภาพสูง เพื่อประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนประมาณ 18 โครงการ 767 ไร่ และรูปแบบที่สาม คือ โครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน (Joint Support) โดยการเคหะแห่งชาติจะเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคเอกชนใน 2 รูปแบบ คือ ด้านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อขออนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เน้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระดับ SME หรือกลุ่ม Start Up ส่วนภูมิภาค และด้านการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) โดยจะพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งมีผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอมาแล้ว 7 จังหวัด 14 โครงการ
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อรายย่อยและค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเป็นกลไกในการสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างสม่ำเสมอก่อนที่จะส่งต่อให้กับสถาบันการเงิน โดยมีกรอบวงเงินตั้งต้นที่ขอรับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 5,207 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาอาคารคงเหลือโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งมีโครงการพร้อมขาย 8,697 หน่วย
โดยวางแนวทางการขายไว้หลายรูปแบบ เช่น เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังของ ธอส. พร้อมอัดแคมเปญ ลด แลก แจก แถม รวมถึงจ้างเอกชนบริหารการขาย ให้ค่าตอบแทนผู้แนะนำลูกค้ามาซื้อโครงการ เช่าเพื่อซื้อ (Rent to Buy) ให้เอกชนเช่าเหมาอาคาร และขายในราคาพิเศษให้เป็นสวัสดิการหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
นอกเหนือจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว การเคหะแห่งชาติยังได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นฐานเดียวกัน
รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ โดยจะส่งผลดีต่อประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยได้สะดวกและรวดเร็ว ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเว็บไซต์ http://www.nhic.m-society.go.th รวมถึงการจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยและบริการงานขาย (NHA INNOVATION CENTER) เพื่อปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ทันสมัยเป็นการเคหะแห่งชาติ 4.0 ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้อย่างเท่าเทียมกันแบบครบวงจร ประกอบด้วย
พื้นที่ศูนย์เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย พื้นที่จัดแสดงห้องตัวอย่างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ห้องประชุมสัมมนาทางวิชาการ พื้นที่ศูนย์บริการงานขายแบบเบ็ดเสร็จ ONE STOP SERVICE พื้นที่นำร่อง SMART OFFICE เป็นที่ทำการของสำนักงานเคหะนครหลวง สาขาห้วยขวาง รองรับการให้บริการผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนห้วยขวาง 5,360 หน่วย
ทิศทางการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติในปี 2562 มุ่งก้าวสู่การเป็น “ปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม (Year of Quality & Innovation) ด้วยการเน้น คุณภาพ (Quality) การดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ด้านการก่อสร้าง ด้านการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร และด้านบริการ รวมถึงการนำนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ มาใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย ด้านการก่อสร้าง ด้านการตลาด และด้านการเงิน
แนวทางการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติในปี 2562 มี 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีเป้าหมายเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 38,562 หน่วย ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว 10,246 หน่วย โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) จัดสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบรัฐสวัสดิการ 25,000 หน่วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว 6,055 หน่วย โครงการติดตาม/ประเมินผลสัมฤทธิ์และส่งเสริมสมรรถนะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ “โครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด”
เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง ตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยมีกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย 19 กลุ่ม 73 พื้นที่ โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุน เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติ 3 รูปแบบ ทั้งโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน (Joint Investment) โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Operation) และโครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน (Joint Support) และโครงการบ้านล้านหลัง โดยจะพัฒนาบ้านโครงเหล็ก (Smart Home) ให้มีการออกแบบ Universal Design และเป็นบ้านประหยัดพลังงาน เพิ่มทางเลือกให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อเป็นเจ้าของ
ในโอกาสครบรอบ 46 ปีของการก่อตั้งการเคหะแห่งชาติ ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนาวิชาการหัวข้อ “โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของการเคหะแห่งชาติ” NHA’s PPP เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานของการเคหะแห่งชาติในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnerships : PPP) และสร้างเครือข่ายระหว่างการเคหะแห่งชาติ/หน่วยงานภาครัฐ กับภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดงานรณรงค์การขายโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 7 จังหวัด 8 โครงการ เปิดจองพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2562 ได้แก่ โครงการนครนายก (พรหมณี 1) โครงการฉะเชิงเทรา (แปลงยาว 1) โครงการลพบุรี (พัฒนานิคม) โครงการชุมพร โครงการศรีสะเกษ (ระยะ 4 ส่วนที่ 1) โครงการศรีสะเกษ (ระยะ 4 ส่วนที่ 2) และโครงการสกลนคร (สว่างแดนดิน)
“การเคหะแห่งชาติมุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง พร้อมขับเคลื่อนงานให้เป็น การเคหะแห่งชาติ 4.0 โปร่งใส ทันสมัย ใส่ใจประชาชน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนพัฒนาบุคคลากรและองค์กรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็น ปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม (Year of Quality & Innovation) ในปี 2562 นี้” ดร.ธัชพล กล่าว