'ธิดา' โพสต์เชียร์ 'ทูลกระหม่อมฯ' บัญชีนายกฯ ทษช.
"ธิดา" โพสต์เชียร์ "ทูลกระหม่อมฯ" นั่งบัญชีนายกฯ ทษช.
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 62 นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ" โดยมีเนื้อหาคือ สภาวะใหม่ทางการเมืองไทย ความว่า "หลายท่านในวันนี้ก็คงจะอินกับข่าวใหญ่เรื่องที่ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคไทยรักษาชาติ"
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับคนจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าคนในส่วนราชวงศ์จำนวนหนึ่งก็เคยเข้ามาสู่เส้นทางการเมือง และในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นสามัญชนแล้ว แต่ยังได้รับการถวายพระเกียรติยศ ยังใช้ราชาศัพท์อยู่
อ.ธิดากล่าวว่า เป็นสภาวะใหม่ทางการเมืองที่น่าสนใจ จากแถลงการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ ได้ระบุพระประสงค์ของพระองค์ทูลกระหม่อมฯ ว่ามีพระประสงค์ที่จะสร้างความเจริญให้กับประเทศ และความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประเทศไทยทันสมัยทันโลก ยิ่งไปกว่านั้น คือการสร้างความสามัคคีปรองดองให้กับคนในชาติ
เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสภาวะใหม่ของการเมืองไทย หลังจากที่เรามีความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ สายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม กับสายเสรีนิยมและการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปกติสายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยมไม่ควรขัดแย้งกันถ้าเป้าหมายทางการเมืองคือระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน
แต่ถ้าสายอนุรักษ์ นิยมอำนาจนิยมมองว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้ ก็จะเกิดช่วงเวลาของการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากประชาชนเพื่อไม่ให้ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นระยะยาวนาน
พอมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยถ้ามีความขัดแย้งกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ก็เกิดรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังประหนึ่งว่าการทำรัฐประหาร 2 - 3 ครั้ง การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนกฎหมายใหม่ ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ต้องมีการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคการเมืองสายที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าเป็นปฏิปักษ์ หรือพรรคที่มาจากไทยรักไทยโดยการนำของดร.ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นปฏิปักษ์ถาวรของฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมหรือเปล่า?
ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นม็อบของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่ตั้งแต่ต้นในการต่อต้าน "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ก็จะเริ่มด้วยปัญหาความไม่จงรักภักดี มีการอ้างถึงสถาบันอย่างที่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เรียกได้ว่า "โหน" สถาบันตลอด
มาบัดนี้เมื่อทูลกระหม่อมฯ ซึ่งท่านเป็นราชวงศ์ชั้นสูงมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ และหลายคนก็บอกว่าเป็นพรรคเด็ก ๆ ที่ตั้งใหม่ ก็กลายเป็นอะไรที่เรียกว่า "ฟ้าถล่มดินทลาย" มาถึงตอนนี้จึง "ช็อก" ถามว่าช็อกฝ่ายไหน? อ.ธิดากล่าวว่า “ช็อกฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เกลียดชัง ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ ต้องการกำจัดไปให้พ้นเส้นทางการเมืองไทย”
ในอดีตคนที่อยู่ในบรรดาศักดิ์ อยู่ในราชวงศ์ เป็นชนชั้นนำที่มีทัศนะก้าวหน้า เคยร่วมมือกับคณะราษฎรในการเมืองการปกครองก็มี เท่าที่อ.ธิดานึกขึ้นได้คนแรกก็คือ "ท่านชิ้น" ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ท่านมีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าแผ่นดิน) อีกคนหนึ่งก็คือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ท่านมีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ วางกฎเกณฑ์โดยใช้คำบาลีและสันสกฤตให้ราชบัณฑิตยสถานใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้ามองไปในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชา จะพบว่าพระเจ้านโรดม สีหนุ มีบทบาทสำคัญมากในลักษณะที่ก้าวหน้าทางการเมือง
เมื่อกลับมามองเหตุการณ์ในประเทศไทย อ.ธิดาคิดว่าประชาชนก็ต้องให้โอกาส เพราะพระองค์ท่านก็ต้องเสียสละและการเมืองไทยนั้นโหดร้าย ในทัศนะของอ.ธิดา
ฝ่ายที่มอง "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นปฏิปักษ์อย่างแรงกล้า ก็ไม่สามารถเอาเรื่องของราชวงศ์หรือเรื่องของสถาบันมาอ้างได้อีกแล้ว สำหรับสายอนุรักษ์นิยมที่เฉย ๆ หรือเห็นด้วยอาจจะมีน้อย ถ้าเขาไม่มอง ดร.ทักษิณ อย่างเกลียดชังเกินไป ก็อาจจะมองในแง่บวกที่พระองค์ท่านต้องการปรองดองและต้องการใช้ความสามารถ ในการแก้ปัญหาประเทศ
ถ้าเราไปดูฝ่ายที่เกลียดชังยกตัวอย่างเช่นในคมชัดลึก "ดึงฟ้าต่ำ ทำวงแตก" ซึ่งเนื้อหามีแต่กระแนะกระแหน หรือ ม.จ.จุลเจิมที่มีการโพสต์เฟสบุ๊ค ซึ่งอ.ธิดาบอกได้เลยว่าเป็นสายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้เกี่ยวกับการจงรักภักดีหรืออะไร โดยเฉพาะคนที่ใช้ "สถาบัน" มาจัดการกับ "ดร.ทักษิณ" มาตอนนี้ใช้ไม่ได้แล้วคนเหล่านี้จะโกรธแค้น!!!
การที่ทูลกระหม่อมฯ ท่านลงมาทำงานการเมืองเป็นแคนดิเดตนายกฯ อ.ธิดามองว่าส่วนใหญ่ลึก ๆ คนจะมองเห็นด้านดีก็คืออยากเห็นประเทศนี้นำไปสู่การปรองดอง แต่ถามว่าฝ่ายที่คิดก้าวหน้าและฝ่ายประชาธิปไตยจะคิดเหมือนกันทั้งหมดไหม ? ก็คงไม่เหมือนเช่น อ.ปิยบุตร พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งล่าสุดกล่าวว่าคนที่จะมาเป็นแคนดิเดตควรจะเป็น ส.ส. เป็นต้น
ด้วยกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่จึงเป็นการเล่นไพ่หรือยุทธวิธีในการที่ทำอย่างไรให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ? ปัญหาแรกคือเอาชนะการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร ดังนั้นขณะนี้ แคนดิเดตนายกฯ ที่น่าจับตาก็กลายเป็น พล.อ.ประยุทธ์ กับ ทูลกระหม่อมฯ
เมื่อถามว่าประชาธิปัตย์จะเป็นคู่แข่งไหม ? อ.ธิดากล่าวว่า “ไม่น่าจะใช่!”
ทีนี้จะแก้การสืบทอดอำนาจอย่างไร? อ.ธิดากล่าวว่า “การเอาชนะทางเลือกตั้งนั้นไม่พอ ต่อให้มีเกิน 250 ต่อให้มี 376 ก็ถูกจัดการได้โดย 250 ส.ว. โดยกลไกรัฐ” ตรงนี้ทำให้อ.ธิดาเข้าใจในสิ่งที่ ทษช.ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ ที่เรียกว่ายิ่งกว่าเหยียบเมฆ
ที่สำคัญ พปชร. จะได้เกิน 25 ที่นั่งไหม? ทษช. จะได้เกิน 25 ที่นั่งไหม?
อ.ธิดามองว่าโอกาสที่ทูลกระหม่อมฯ จะเป็นนายกฯ ประเทศไทยนั้นมีสูงมาก ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าใครจะมาร่วมด้วย ถ้าอนาคตใหม่ไม่เอาด้วย ก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่
อ.ธิดาเข้าใจในวิธีคิด แต่บางครั้งในการต่อสู้ต้องเป็นขั้นตอน มีกลยุทธ์ในแต่ละเวลาซึ่งไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างในนิทาน "กระต่ายปัญญาดี ต้องมีหลายโพลง" และนี่เขาเรียกว่า "สภาวะใหม่ทางการเมืองไทย" ซึ่งมีกลยุทธ์ของฝ่ายที่ถูกกระทำทางการเมือง สามารถที่จะใช้อาวุธสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือทำให้อาวุธนั้นใช้ไม่ได้ นั่นคือปัญหาที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมโหนสถาบันอยู่ตลอดเวลา
สุดท้าย ไม่ว่าใครจะอยู่ในชนชั้นไหน ไพร่ก็ล้าหลังได้ เจ้าก็ก้าวหน้าได้ แต่คนที่กบฏต่อชนชั้นตัวเองก็มีนะคะ อย่าคิดว่าไพร่ทุกคนก้าวหน้า ถ้าไพร่ทุกคนก้าวหน้าประเทศไทยไม่มาถึงขั้นนี้ และอย่าคิดว่าปัญญาชนทุกคนก้าวหน้า
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นอย่างไร? เฉพาะหน้า พรรค พปชร. ได้เกิน 25 ไหม? ทษช. ได้เกิน 25 ไหม?
"ถ้าไม่ได้เกินก็จบค่ะ" อ.ธิดากล่าว