พณ.ดันยกระดับคุ้มครองปลากัดไทยทั้งในและต่างประเทศ
"พาณิชย์" ดันยกระดับคุ้มครองปลากัดไทยทั้งในและต่างประเทศ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงประเด็นที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กล่าวถึงกรณี “ข้าวดี ตีเป็นข้าวเสื่อมราคาแล้วขายถูก เอื้อประโยชน์นายทุน” ดังนี้
ในช่วงแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ พบว่า มีข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมาจำนวนมากถูกเก็บไว้ในสต็อกของรัฐเป็นเวลานานจึงมีความจำเป็น ต้องตรวจสอบสภาพ ปริมาณ ชนิด และคุณภาพ ก่อนดำเนินการระบาย เพื่อลดภาระและรักษาประโยชน์ของรัฐ
คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบความมีอยู่จริงของข้าวทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยการตรวจนับปริมาณสต็อกข้าวและสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพปฏิบัติตามหลักสากล มีคู่มือแนวทางปฏิบัติงานชัดเจน
นบข. มีมติให้นำข้าวที่ผ่านการตรวจสอบและจัดระดับชั้นคุณภาพแล้วมาระบายตาม แผนยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐ
ในช่วงแรกของการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ภาครัฐได้เริ่มระบายข้าวคุณภาพดีที่คนบริโภคได้ก่อน เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่ดีที่สุด และไม่ให้มูลค่าข้าวดีลดลงจากสภาพข้าวที่เสื่อมลงไปตามระยะเวลาการเก็บรักษา
เมื่อได้คัดข้าวที่คนบริโภคได้ออกมาประมูลขายจนหมดแล้ว ข้าวที่เหลือเป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก เสื่อมสภาพ เก็บมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี ผ่านการรมยาทุก 60 วัน ได้รับความเสียหาย (จากภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝน น้ำท่วม และไฟไหม้) ข้าวที่อยู่ในคลังที่มีสภาพไม่ได้มาตรฐานไม่ปลอดภัย(คลังพัง กองล้ม) คุณภาพข้าวไม่เหมาะสมต่อการบริโภคของคนและ/หรือสัตว์ รวมทั้งเป็นอุปทานส่วนเกินที่ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาตลาดและราคาข้าว โดยมีทั้งคลังที่เป็นข้าวเสียยกคลัง และคลังที่มีข้าวเสียปะปนอยู่กับข้าวดีแต่ไม่สามารถคัดแยกได้ เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับเวลาและค่าใช้จ่ายนับพันล้านบาทที่จะต้องสูญเสียไปหากจะคัดแยกออกมา
นบข. จึงมีมติให้ใช้วิธีการประมูล เนื่องจากโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยให้ประมูลข้าวดังกล่าวแบบยกคลังเพื่อระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม และกำหนดมาตรการกำกับดูแลไม่ให้ข้าวคุณภาพเสื่อมรั่วไหลออกไปสู่ตลาดข้าวบริโภค ซึ่งผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์สามารถเข้าร่วมการประมูลได้
ภาครัฐได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558-2561 มีปริมาณรวม 5.16 ล้านตัน โดยแบ่งเป็น
1.ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของคน นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณ 4.10 ล้านตัน
2.ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคทั้งคนและสัตว์ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน ปริมาณ 1.06 ล้านตัน
นบข. ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการกำกับดูแลการนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ให้ข้าวคุณภาพเสื่อมรั่วไหลออกไปสู่ตลาดข้าวบริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและรักษาชื่อเสียงของประเทศไทย โดยมีกลไกสำคัญที่ใช้ในการกำกับดูแล ดังนี้
มอบหมายองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติทำหน้าที่จัดระบบและควบคุมป้องกันการรั่วไหลของข้าวที่รัฐได้ระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม โดย อคส. ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานขนย้ายข้าวสารเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ (1) แนวทางปฏิบัติและเงื่อนไขในการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับ อคส./อ.ต.ก. (2) ขั้นตอนและมาตรการควบคุมการขนย้ายข้าวออกจากคลังไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมของผู้ชนะการประมูล อาทิ วิธีการส่งมอบ-รับมอบข้าว วิธีการซีล รถบรรทุก การควบคุมการขนย้าย (การกำหนดเส้นทางการขนย้าย ด่านชั่งน้ำหนัก และจุดตรวจ) การตรวจสอบหนังสือกำกับการขนย้ายข้าว และการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV)
การขนย้ายข้าวทุกขั้นตอนต้องมีหนังสือขออนุญาตขนย้ายข้าวและปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการขนย้ายและจัดทำบัญชีคุมข้าวสารในสต็อกของรัฐ ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดดำเนินการตรวจสอบการนำข้าวไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหัวหน้าคลังสินค้าเป็นเลขานุการ เพื่อสุ่มตรวจสอบบัญชีคุมสินค้าแสดงปริมาณการได้มาและปริมาณการใช้รายวันของผู้ชนะการประมูล และรายงานผลการตรวจสอบเป็นรายเดือน
แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกของรัฐ โดยมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพบก ร่วมเป็นอนุกรรมการ และแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการดังกล่าว โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อมูลปริมาณ เส้นทางการขนย้าย และการนำข้าวในสต็อกของรัฐไปใช้ในอุตสาหกรรม