สัปดาห์หน้า! อย.-สสจ.รับแจ้งครอบครองกัญชาไม่ต้องรับโทษ

สัปดาห์หน้า! อย.-สสจ.รับแจ้งครอบครองกัญชาไม่ต้องรับโทษ

คกก.ยาเสพติดให้โทษเห็นชอบอนุบัญญัติกัญชา 6 ฉบับ ร่างกฎสธ.ผลิตกัญชา กำหนด 5 ปีแรก ต้องร่วมหน่วยงานรัฐ-นิติบุคคลต้องเป็นคนไทย 2 ใน 3 ร่างประกาศตำรับยาไทยเข้ากัญชา 16 ตำรับ มุ่งสูตรดั้งเดิม มีประสิทธิผลชัดเจน


เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ว่า ที่ประชุมมีมติรับรองอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่ออกตามพ.ร.บ.ยาเสพติดฯฉบับใหม่ เกี่ยวกับกัญชา 6 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง โดยในส่วนของการผลิตจะกำหนดผู้ที่จะได้รับอนุญาตในการผลิต คือหน่วยงานรัฐ แพทย์ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจะต้องขออนุญาตการผลิตกัญชาจากคณะกรรมการฯ และใน 5 ปีแรกจะต้องทำร่วมกับหน่วยงานรัฐ หากเป็นภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคลลจะต้องเป็นคนไทยถือครอง 2 ใน 3 เพื่อให้มีความมั่นใจในระบบการดูแล


2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคและศึกษาวิจัยได้ 3.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน โดยทั้ง 3 ฉบับจะมีการประชาพิจารณ์ในวันที่ 26 ก.พ.2562 และ4.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีการครอบครองกัญชาก่อนแพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ไม่ต้องรับโทษ หากมีการแจ้งภายใน 90 วันนับแต่พ.ร.บ.บังคับใช้ ที่แยกย่อยเป็น 3 ฉบับ ตามกลุ่มที่ต้องแจ้งครอบครอง ได้แก่ กลุ่มผู้วิจัย กลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มบุคคลอื่น โดยจะส่งเรื่องให้รมว.สาธารณสุขพิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะเปิดรับการแจ้งครอบครองส่วนกลางแจ้งที่อย.และต่างจังหวัดที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)


“ในส่วนของการแจ้งการครอบครองโดยไม่ต้องรับโทษนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างเดิม โดยผู้ป่วยเดิมอนุญาตให้ผู้ป่วยใช้เฉพาะตำรับกัญชาสำเร็จรูปได้เท่านั้น ก็มีการแก้ไขให้มีการใช้ต้น ใบ ดอก ของกัญชาสำหรับรักษาโรคได้ เพราะยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องใช้

รวมถึง จากที่ผู้อื่นแจ้งครอบครองแล้วต้องส่งมอบกัญชาให้สธ.นำไปทำลาย แก้เป็นหากมีผู้ประสงค์นำกัญชาดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยหาสารสำคัญ ศึกษาสารปนเปื้อน หรือที่ไม่ใช่การเสพในมนุษย์ให้เสนอขออนุญาตจากคณะกรรมการฯได้


นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับตำรับยาแพทย์แผนไทยที่จะมีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์สังเคราะห์ได้ 96 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม ก มี 16 ตัว ที่เป็นสูตรดั้งเดิม วิธีการปรุงชัดเจรน ประสิทธิผลชัดเจน ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการ ปวด นอนไม่หลับ แก้ชัก เป็นต้น 2.กลุ่ม ข สูตรดั้งเดิม แต่วิธีการปรุงยายังไม่ชัด ต้องศึกษาเพิ่มเติม 3.กลุ่ม ค ต้องศึกษาวิจัย และ 4.กลุ่ม ง กลุ่มที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น ไซเตส เพราะมีการห้ามใช้สมุนไพรบางตัว แต่เบื้องต้นจะอนุญาตให้นำมาใช้เพียงกลุ่มแรกเท่านั้น