'สมพงษ์' ชี้ทุนกสศ.ไม่ใช่ประชานิยม
โค้งสุดท้าย! กสศ.เฟ้นหาเด็กขยันทำงาน เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้ารับสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 2,500 ทุน 40 สาขาวิชา ใน 37 สถาบันทั่วประเทศ "สมพงษ์" ชี้ทุนและการสนับสนุนของกสศ.ไม่ใช่ประชานิยม
วันนี้ (28 ก.พ.)กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินการค้นหา คัดเลือกและคัดกรองผู้รับทุนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าวว่า กองทุน กสศ. จับมือกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพ สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ เอกชน วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ รวม 37 แห่งทั่วประเทศ เปิดประตูสู่โอกาส "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" ให้นักเรียน นักศึกษาที่มีศักยภาพ ขยันทำงาน เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และกำลังเรียนชั้น ม. 3 ม. 6 หรือเทียบเท่าหรือ ปวช. 3 ได้เรียนต่อสายอาชีพในสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของประเทศ จำนวน 2,500 ทุนต่อปี ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยทุนแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทุน 5 ปี สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้น ม. 3 หรือเทียบเท่า จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายประจำเดือน ค่าที่พักและค่าครองชีพ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการเรียนที่จำเป็นเดือนละ 6,500 บาท ต่อทุนใน 3 ปีแรกและ 7,500 บาท ต่อทุนใน 2 ปีหลัง รวมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัด ขณะที่ทุน 2 ปี สำหรับนักเรียนชั้น ม. 6 หรือเทียบเท่า จะได้รับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายประจำเดือน เดือนละ 7,500 บาท ต่อทุน และค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัดเช่นกัน
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สาขาที่รับสมัครเป็นสาขาที่คัดเลือกแล้วว่ามีความโดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เมื่อเรียนจบออกไปมีงานทำแน่นอน โดยมีสาขาให้เลือกกว่า 40 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร ท่องเที่ยว หุ่นยนต์อัจฉริยะ คอมพิวเตอร์กราฟฟิก โลจิสติกส์ งานรถไฟความเร็วสูง ช่างอากาศยาน เกษตรนวัตกรรม (Smart Farmer) เป็นต้น สำหรับนักเรียนนักศึกษา ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้เรียนต่อในสถาบันสายอาชีพที่มีคุณภาพสูง ช่วยยกระดับทักษะความรู้ความสามารถ มีอนาคตที่ก้าวหน้า และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองอีกด้วยเนื่องจากการเรียนสายอาชีพจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การเรียนที่ครบครัน ห้องเรียนปฏิบัติการทันสมัยและเน้นทักษะการปฎิบัติงานในสถานประกอบการ สำหรับเรื่องการมีงานทำของการเรียนสายอาชีพนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะสถาบันแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการได้จัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรตอบสนองภาคภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ First S-CURVE และกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต New S-CURVE เป็นต้น โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ
"ทุนและการสนับสนุนของกสศ.ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการสังคมช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้รับโอกาส เราไม่จ่ายเงินสะเปะสะปะ เลือกเด็กเยาวชนที่ยากจนจริงๆ มีความตั้งใจมุมานะ แต่ไม่ค่อยมีโอกาส โครงการนี้ตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำ และยังช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสายสามัญตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ร้อยละ 50 ผลลัพธ์ของโครงการจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะให้เป็นเชิงบวกและยกระดับการเรียนการสอนสายอาชีพ สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้เรียนและครอบครัว เด็กกลุ่มนี้จะก้าวหน้าเป็นนวัตกรสายอาชีพ กำลังคนคุณภาพชั้นนำของประเทศ ตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง" ที่ปรึกษา กสศ. กล่าว
ด้านน.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงศ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการนี้สนับสนุนในลักษณะทุนให้เปล่า โดยตลอดระยะเวลาของการเป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน เช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่และทักษะอนาคต กิจกรรมรู้จักและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนนักศึกษาทุน โอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียนกับสถานประกอบการชั้นนำผ่านการปฏิบัติการจริงกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สำหรับนักเรียนกลุ่มที่สามารถยื่นใบสมัครได้ทันที อาทิ นักเรียนยากจนพิเศษที่รับเงินอุดหนุนจาก กสศ. นักเรียนยากจนที่รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน สพฐ. หรือนักเรียนยากจนจากโรงเรียนสังกัดอื่นๆ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 18 มีนาคม 2562 นักเรียน นักศึกษาสามารถยื่นใบสมัครได้ที่สถาบันการศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการ โดยตรวจสอบรายชื่อสถาบันและสาขาที่เปิดรับพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ กสศ. www.eef.or.th หรือ สายด่วน โทร. 02-079-5475 กด 2 ในวันและเวลาราชการ.