กรมประมงแจงประเด็นเดือดโลกโซเชียล 'กระเบนนก' ย้ำไม่ผิดกฎหมาย
กรมประมงแจงประเด็นเดือดโลกโซเชียล “กระเบนนก” ย้ำไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรกันช่วยอนุรักษ์มากกว่านำมาบริโภค
กลายเป็นประเด็นเดือดในโลกโซเชียลมีเดียทันที หลังรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดังนำปลากระเบนนกมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร กรมประมงแจงข้อสงสัยจับปลากระเบนนกมารับประทานผิดกฎหมายหรือไม่? กรมประมงเผยชัดไม่ผิดกฎหมายแต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเนื่องจากสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้เป็นสัตว์น้ำชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับท้องทะเลมากกว่านำมาบริโภค
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มี.ค.62 นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีปลากระเบนที่ปรากฏอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหาร จากการตรวจสอบ มี 2 ชนิดพันธุ์คือ กระเบนหิน และ กระเบนนกจุดขาวสำหรับปลากระเบนนกจุดขาว หรือปลากระเบนค้างคาว หรือ ปลากระเบนยี่สนอยู่ในวงค์ปลากระเบนนก (Myliobatidae) เป็นปลากระเบนทะเลที่พบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงน่านน้ำประเทศไทยที่สามารถพบเห็นได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีลักษณะเด่น มีผิวหนังเรียบ ด้านหลังมีสีดำมีจุดขาวกระจาย ด้านท้องมีสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระเหมือนนกบิน มีขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยพบสูงสุดถึง 3 เมตร น้ำหนัก 230 กิโลกรัม อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามชายฝั่งทะเลแนวปะการัง ส่วนปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำ กินปลาขนาดเล็กหอยปลาหมึกกุ้งและปูเป็นอาหาร
สำหรับในประเทศไทยปลากระเบนนก เป็นสัตว์น้ำพลอยได้จากการทำประมงไม่อยู่ในเป้าหมายการจับของชาวประมง และไม่มีเครื่องมือที่ใช้จับเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าปลากระเบนนกจะเป็นสัตว์น้ำที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหรือบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกจำนวน 1,038 ชนิดใน IUCN Red List สำหรับปลากระเบนนกชนิดนี้แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี IUCN Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์เนื่องจากการประเมินสถานภาพพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว
ดังนั้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้ลดน้อยลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงหากจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจขอให้ช่วยกันปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดมาตรการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเน้นการทำการประมงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นเรื่องที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิดถึงแม้อาจไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจและไม่ถูกนิยมมาบริโภค แต่ก็สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี